ภาพเขียนสีกลุ่มผาแต้ม


ละติจูด 15.3859390406 , ลองจิจูด 105.492126478

พิกัด

ตำบลห้วยไผ่ อำเภออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ภาพเขียนสีกลุ่มผาแต้ม ตั้งอยู่ที่ บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ชาวบ้านในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงแถบนั้นรู้จักหน้าผาที่มีภาพเขียนสีนี้เป็นอย่างดีมาช้านานแต่อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ทำให้แหล่งภาพเขียนสีนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และต่อมากรมศิลปากรจึงได้เริ่มทำการสำรวจเก็บบันทึกข้อมูลอย่างจริงจังและพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 บริเวณที่พบเป็น ภูเขาหินทรายที่ทอดยาวต่อมาจากเทือกเขาภูพานเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงที่เรียกกันว่าภูผาขามข้างบนภูผาขามเป็นลานหินกว้าง สูงจากพื้นราบริมโขง ประมาณ 160 เมตร อยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ บริเวณที่พบภาพเขียนเป็นหน้าผายาวใต้ลานหินของภูผาขามนี้ ลักษณะของถ้ำเป็นแนวหน้าผาติดต่อกันเป็นแนวยาวมีความสูงชันประมาณ 30-40 เมตร มีทางเดินแคบ ๆใต้เพิงผาหินนั้น ภาพเขียนสีกลุ่มผาแต้มนี้ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ตามชื่อหน้าผาเรียงต่อกันไปคือ ผาขาม ผาแต้ม ผาหมอนน้อย และผาหมอน หน้าผานี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภาพเขียนที่ผาแต้มเป็นผาที่มีภาพเขียนเป็นแนวยาวติดต่อกันและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด บริเวณผาขาม เป็นภาพปลาขนาดใหญ่ 4 ตัว ยาวประมาณ 0.35-1.00 เมตร เขียนด้วยสีแดง แบบเห็นโครงสร้างภายใน ( x-ray ) นอกจากนั้นมีภาพช้าง 1 ตัว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปลามาก (ประมาณ 13 ซม.) และภาพสัตว์สี่เท้า 1 ตัว บริเวณผาแต้ม เป็นภาพเขียนปรากฎมีตลอดแนวหน้าผายาว 180 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 4-5 เมตร ภาพที่เขียนลงสีไว้มีมากกว่า 300 รูป ที่ผาแต้มนี้มีภาพที่เกิดจากการฝนเซาะร่องลงไปในเนื้อหิน(abrading) เป็นลายเส้นเรียงแถวตามแนวตรงบ้าง เฉียงบ้าง แนวนอนบ้าง สูงตั้งแต่ 5-15 ซม. ส่วนนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในช่วงยาวประมาณ 80 ซม.เท่านั้น อาจเป็นภาพสัญลักษณ์บางอย่าง สำหรับภาพเขียนสีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง มีสีดำและสีขาวบ้าง แบ่งเป็นภาพคนซึ่งมีขนาดเล็ก พบเพียง 10 ภาพ ภาพสัตว์ เช่น ช้าง ปลา เต่าหรือตะพาบน้ำ สุนัข วัว ไก่หรือนก เป็นต้น มักแสดงภาพขนาดใหญ่ราวกับเท่าของจริง โดยเฉพาะช้างและปลาที่มีขนาดยาวถึง 4 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ภาพสัตว์นี้พบประมาณ 30 ภาพ ทั้งภาพคนและสัตว์ มักอยู่ในอาการเคลื่อนไหว ภาพวัตถุสิ่งของ อาจเป็นเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่าตุ้ม และหน้าไม้ หรือคันธนูซึ่งคนกำลังถือใช้งานอยู่ ภาพสัญลักษณ์ เป็นลายเส้นวกเวียนไปมา หรือเป็นเส้นหยัก ลูกคลื่นหรือฟันปลา ซึ่งอาจหมายถึงน้ำ หรือ กับดักปลา? ลายก้างปลา ลายรูปทรงเรขาคณิต ลายเส้นขนานคล้ายทุ่งนา เป็นต้น ภาพมือ ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 200 มือ มีทั้งมือผู้ใหญ่ และมือเด็ก และมีทั้งสีแดง สีดำ และสีขาว ภาพทุกประเภทเขียนอยู่ร่วมกันเสมอ โดยเฉพาะภาพมือ ปรากฏมีสอดแทรกกับภาพอื่น ๆ ทุกภาพ ภาพเขียนส่วนมากเขียนแบบระบายสีเงาทึบ (silhouette) นอกนั้นเป็นแบบโครงร่างรอบนอก (outline) และแบบกิ่งไม้ (stick man) ส่วนภาพมือมีรูปแบบการทำหลายแบบ มีทั้งแบบพ่น (stencil) แบบทาบ (imprint) และแบบเขียนเส้นโครงรอบนอก (outline) บริเวณผาหมอนน้อย ภาพคนสูงประมาณ 1.6 เมตร กำลังเหนี่ยวคันธนูเล็งไปยังสัตว์สี่ขาอาจเป็นวัวท้อง ลำตัวยาวประมาณ 6.4 เมตร ภาพคนสูงประมาณ 1.2 เมตร กำลังไล่สัตว์สี่ขามีเขาอาจเป็นกวางที่บุกรุกเข้าไปในนาข้าว ซึ่งรอบ ๆภาพกลุ่มนี้มีภาพมือทั้งซ้ายและขวาประมาณ 20 มือ ทำขึ้นโดยการทาสีบนฝ่ามือแล้วขูดสีบางส่วนที่นิ้วและฝ่ามือออกแล้วจึงทาบมือลงบนผนัง ถัดมาเป็นภาพสัตว์สี่ขา 3 ตัว ท้องป่องคล้ายท้องเช่นกัน กับภาพลายเส้นคล้ายตาข่ายดักสัตว์ นอกจากนี้ก็มีภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกัน และภาพมือที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มแรกอีกประมาณ 15 มือ เรียงกันเป็นแถวยาวกับลายเส้นหยักขึ้นลงวกไปมาด้วย ภาพคนและสัตว์ระบายสีแดงแบบเงาทึบ (silhouette) บริเวณผาหมอน ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีแดงแบบระบายเงาทึบ (silhouette) ประกอบด้วยภาพคนและสัตว์ กลุ่มแรกมีภาพคนเพียงคนเดียวกับภาพสัตว์สี่ขา 11 ตัว อาจเป็นช้าง วัว สุนัข และหมูหรือแกะหรือแพะเดินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน (ยกเว้นสุนัข ที่หันหน้าเข้าหาฝูงสัตว์) กลุ่มที่สองเป็นภาพคนประมาณ 10 คน เขียนแบบระบายเงาทึบกับแบบกิ่งไม้ มีลักษณะค่อนข้างเหมือนจริง แสดงกล้ามเนื้อน่องโป่งพองด้วย ภาพที่น่าสนใจของที่ผาหมอนนี้คือภาพคนนุ่งกระโปรงยาวครึ่งน่อง ยืนท้าวสะเอว มีขนาดใหญ่กว่าภาพคนอื่น ๆ ไม่รู้แน่ว่าเป็นหญิงหรือชาย นอกจากนี้มีภาพมือข้างขวาของผู้ใหญ่แบบพ่น (stencil) 2 มือ และแบบทาบ (imprint) อีก 2 มือ และมือเด็กแบบทาบอีก 2 มือด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพเขียนสีที่ผาแต้มและผาหมอนน้อยนี้ ภาพทุกประเภทมีความสัมพันธ์เป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพคนกับวัวกับภาพมือ ภาพปลากับมือ ภาพตุ้มกับมือ และสัญลักษณ์ภาพทุ่งนากับคนกับกวางกับมือ ภาพคนกำลังล่าวัวหรือกวาง เหล่านี้จะเห็นได้ว่ามีภาพมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมออาจหมายถึงการร่วมมือร่วมแรงกันทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ร่วมมือกันจับปลา ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือล่าสัตว์ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้วาดภาพเหล่านั้นว่าอยู่ในสังคมเกษตรกรรม และยังอาจหมายถึงการมีความเชื่อร่วมกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย (ที่มา : http://www.era.su.ac.th/)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -