ย่านชุมชนเก่างอบ


ละติจูด 19.285866 , ลองจิจูด 100.534686

พิกัด

สำนักงานเทศบาลตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน 55130 ตำบลงอบ อำเภออำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55130

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ย่านชุมชนเก่า

ความสำคัญ/ลักษณะ

            “ ผ้าลายน้ำไหลเลื่องชื่อ วัฒนธรรมไตลื้อจากยูนนาน  รสแสนหวานส้มสีทอง  สวยผุดผ่องสาวเมืองงอบ”

            ประวัติความเป็นมา ของหมู่บ้านงอบ อพยพมาจากที่ใดเมื่อไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ได้แต่เล่าลือสืบต่อกันมาว่าอพยพมาจากเมืองสิง เมืองนัง เมืองหลวงภูคา สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน “หมู่บ้านงอบ” เป็นหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่ง ในสมัยก่อนเรียกกันว่า “เมืองงอบ” ประชาชนมีเชื้อสายไตลื้อ พูดภาษาไตลื้อกันทั่วทั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอทุ่งช้างที่พูดภาษาไตลื้อ ปัจจุบันได้แยกไปอยู่หมู่ที่ 4 (บ้านทุ่งสุน) อีก 1 หมู่บ้าน

                 วัดศรีดอนชัย (งอบ) ตั้งอยู่เลขที่ 63 บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง หมู่ที่ 10 ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2249 ผู้สร้างไม่ทราบแน่ชัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2356 มีชาวไทลื้ออพยพมาจากเมืองหลวงภูคา เมืองสิง มาตั้งหลักปักฐานที่ชุมชนบ้านงอบ(อ้างตามพงศาวดารเมืองน่าน) ได้ปรากฏชื่อวัดศรีดอนชัยบ้านงอบ ในคัมภีร์ใบลาน พ.ศ. 2366 พระครูบาอินต๊ะวิไชย ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และประมาณ พ.ศ. 2366 รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ปีกุน สัปตศก ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 12  มีนาคม พุทธศักราช 2480  เอกสารของท่านพระครูสุวรรณธุตคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัย รูปที่ 19              กล่าวว่า สร้างวัดศรีดอนชัย เมื่อ 16 มกราคม 2245 เป็นวัดโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2249 ภายในวัดมีต้นศรีมหาโพธิ์อันเปรียบเสมือนเสาใจบ้านของชาวไทลื้อบ้านงอบ ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านสังเกตโดยอยู่บนที่สูงมองลงมาจะเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่บ่งบอกอายุของวัดได้เป็นอย่างดี เพราะเสนาสนะอื่นมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อนึ่งในการตั้งหมู่บ้านในสมัยก่อนจะมีการตั้งเสาใจบ้านไว้กลางหมู่บ้าน  โดยจะนำหลักไม้มาปักไว้พร้อมทั้งปลูกต้นโพธิ์ให้เติบโตคลุมเสานั้นไว้

                พิพิธภัณฑ์เฮินไตลื้อ  เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551  โดยสภาวัฒนธรรมตำบลงอบ  ซึ่งมีนายวิทูร  อินยา

เป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลงอบ ร่วมกับผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลงอบ (สมัยนั้น) ผู้นำชุมชนและประชาชนที่เป็นชาวไตลื้อ จำนวน 6 หมู่บ้าน ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาด้านการปลูกสร้างบ้านเรือน ตามแบบไตลื้อ รูปทรงของหลังคา ฝาบ้าน หน้าต่าง พื้นที่ใช้สอยในบ้าน ที่แสดงถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาติพันธ์ไตลื้อเป็นอย่างดี  ที่ดำรงชีวิตได้อย่างกลมกลืนกลับธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ได้อย่างลงตัว อีกทั้งตัวบ้านตั้งอยู่ติดกับลำน้ำงอบ ซึ่งเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านกลางชุมชน เป็นสถานที่เก็บรวบรวม และแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือความรู้อื่นที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ไตลื้อ  เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้

               ต้นโพธิ์ (ต้นสลี) หน้าวิหารวัดศรีดอนชัย มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ 1 ต้น ซึ่งชาวบ้านเรียก “ต้นสลี” จะปลูกในสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ประมาณกันว่าน่าจะปลูกพร้อมกับการสร้างวัดศรีดอนชัย ตามหลักฐานที่ครูบาอินต๊ะวิชัย ได้เขียนลงในคัมภีร์ใบลานธรรมมิลินทปัญหาเมื่อปี พ.ศ.2366 ขณะเขียนธรรม ได้อพยพมาจากเมืองหลวงภูคา สิบสองปันนา มาอยู่วัดศรีดอนชัย ครบ 10 ปี (คาดว่าอพยพมาเมื่อปี พ.ศ. 2356) นับเวลาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) ต้นโพธิ์มีอายุไม่น้อยกว่า 208 ปี

               อาชีพของชาวชุมชนบ้านงอบ จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีไม้ผลที่ขึ้นชื่อในตำบลได้แก่ ส้มสีทอง เงาะ ลองกอง  ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดโดยเฉพาะเงาะ ที่มีรสชาติกรอบ หวาน ร่อน นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมทอผ้า อีกด้วย

                วัฒนธรรมประเพณี, วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนบ้านงอบที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่ชาวชุมชนบ้านงอบยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน เช่น ด้านภาษา ใช้ภาษาไตลื้อในการสื่อสาร, ด้านอาหาร เช่น ขนมดอกส้อ ไข่ป่าม เจียวขี้ปลา ส้ามะเขือเหลือง,  ด้านศาสนา งานตานสลากภัต งานสรงน้ำพระธาตุศรีดอนชัย จัดในเดือนมีนาคมของทุกปี งานตานหลัวผิงไฟพระเจ้า, งานประเพณี ที่ได้ร่วมกันสืบทอดวัฒนธรรม  ไตลื้อและชนเผ่า โดยกำหนดจัดงานทุกๆ วันที่ 30 เดือนธันวาคมของทุกปี งานเลี้ยงเทวดาเมืองผีเมือง จัดในเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งชาวชุมชนบ้านงอบและลูกหลานชาวไตลื้อบ้านงอบ ได้สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม

             การดำเนินตามวิถีชีวิต  ชุมชนบ้านงอบจากอดีตถึงปัจจุบัน ยังคงดำเนินชีวิตตามครรลองครองธรรม โดยเฉพาะภาษาพูดไตลื้อ     ที่ยังคงสืบทอดได้อย่างดียิ่ง โดยมีวัดศรีดอนชัยเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านงอบและการสร้างบ้านเรือนตามสมัยนิยม  ทั้งนี้ทางชุมชนตำบลงอบ ได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์เฮินไตลื้อขึ้นมา เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ต่อๆ ไป

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

           ย่านชุมชนเก่างอบ อยู่รวมกันแบบสังคมชนบท เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ ที่อพยพมาจากสิบสองปันนาประเทศจีน ชาวไตลื้อที่อพยพมาอาศัยอยู่ในชุมชนเก่าบ้านงอบได้นำเอาวัฒนธรรม ภาษาพูด ประเพณี ความเชื่อของตนมาด้วย ถึงแม้ปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน แต่ชาวชุมชนบ้านงอบยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภาษาพูด ชาวชุมชนเก่าบ้านงอบยังคงร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป ในส่วนพื้นที่ชุมชนเก่าบ้านงอบมีทั้งหมด 151 ไร่ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินดังต่อไปนี้ คือ 1) พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 134 ไร่ คิดเป็น 88.74 %  2) พื้นที่การเกษตร จำนวน 4 ไร่  คิดเป็น 2.65 % 3) พื้นที่ทางสันทนาการ/นันทนาการ จำนวน  3  ไร่  คิดเป็น 1.99 % 4) พื้นที่ลานวัฒนธรรม  จำนวน 3 ไร่ คิดเป็น 1.99 % และ 5) อื่นๆ  จำนวน 7 ไร่ คิดเป็น 4.64 % ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ชุมชนเก่างอบยังมีพื้นที่จัดการธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วย

             ความเป็นย่านชุมชนเก่างอบ ที่มีสภาพอาคารบ้านเรือนเป็นแบบไตลื้อมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือ การยกพื้นใต้ถุนสูงแต่ดั้งเดิมนั้นการยกพื้นบ้านใต้ถุนสูงของเรือนลื้อมีไว้สำหรับการป้องกันน้ำท่วมเพราะอาศัยในที่ราบลุ่ม นอกจากนั้นยังใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้าน รวมถึงกิจกรรม/ประเพณีในชุมชนที่จัดขึ้นในแต่ละปี ชานบ้านจะไม่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นยกสูงเช่นเดียวกับตัวเรือนแต่ไม่มีหลังคาคลุม ใช้เป็นที่ซักล้าง ตากผ้า พืชผลทางการเกษตร บ้านเรือนแบบดั้งเดิมนั้น จะเป็นการต่อเติมแบบง่ายๆ ด้วยวัสดุไม่คงทนถาวร เช่น พื้นใช้ไม้ไผ่สานห่างๆ เรียกว่า ฟากไผ่ แต่เพื่อความมั่นคงได้ปรับเปลี่ยนเป็นวัสดุคอนกรีตบางส่วนให้มีความคงทนมากขึ้นดูแลง่ายขึ้น และถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง   ก็ยังคงรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบเดิมอยู่  ในปัจจุบันรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตยังคงมีแบบแผนเดิมๆ ภายใต้กาลเวลาที่เปลี่ยนไป เพื่อสามารถนำมาใช้ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป รูปแบบการอยู่อาศัยในแบบฉบับของชาวไตลื้อนั้น มีความชัดเจนในตัวตน และสะท้อนพฤติกรรมวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพกลไกของสังคม

แก้ไขเมื่อ

2021-10-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร