ย่านชุมชนเก่าบ้านบ่อหลวง


ละติจูด 19.1499520387 , ลองจิจูด 101.155377826

พิกัด

บ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภออำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55220

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ย่านชุมชนเก่า

ความสำคัญ/ลักษณะ

ประวัติความเป็นมาย่านชุมชนเก่าบ้านบ่อหลวง : บ้านบ่อหลวงเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 800 ปี ซึ่งเดิมทีเป็นดินแดนแห่งการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงมีผู้คนหลากหลายมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 1 ของอำเภอบ่อเกลือ และเป็นหมู่บ้านที่มีบ่อเกลือโบราณ 800 ปีและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของคนมากมาย สมัยก่อนบ่อเกลือ มีชื่อว่า“เมืองบ่อ” เป็นชุมชนขนาดใหญ่และภายในพื้นที่รอบๆ นี้มีบ่อน้ำเกลือสินเธาว์มากถึง 9 บ่อ แต่ก่อนที่จะมีผู้คนมาอาศัยอยู่นั้น บริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ จนมีนายพรานผู้หนึ่งผ่านมาเห็นเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำกันที่นี่ ก็แปลกใจทำไมสัตว์ถึงชอบกิน พอได้ชิมดูจึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม และได้มีการตักน้ำนี้ไปถวายผู้ครองนครน่าน ก็เลยส่งคนมาพิสูจน์ ต่อมาภายหลังจึงได้จัดตั้งชุมชนขึ้น โดยนำคนจากเชียงแสนเข้ามาหักร้างถางพง และทำเกลืออยู่ที่นี่คนเหล่านี้ก็คือ บรรพบุรุษของคนบ่อหลวงในปัจจุบัน”ที่แห่งนี้ยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์และพิธีกรรมโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและศึกษา เนื่องจากการผลิตเกลือของชาวบ่อเกลือยังมีข้อจำกัดด้วยเหตุผลของวัฒนธรรมประเพณี คือชาวบ้านบ่อหลวงแห่ง อำเภอบ่อเกลือจะไม่ผลิตเกลือในช่วงเข้าพรรษาและมีช่วงพิธีกรรมที่สำคัญทำมาโดยตลอดไม่เคยขาด ในวันแรม 8 ค่ำ ของเดือน 5 หมู่บ้านบ่อหลวงจะปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกหมู่บ้าน ด้วยยานพาหนะทุกชนิด เป็นเวลา 3 วัน แต่สามารถเดินเท้าเข้ามาได้ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ชาวบ่อหลวงทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณด้วยการบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อจะมีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผีเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกปักคุ้มครองและให้เกลือเป็นทรัพยากรที่พวกเขาสามารถนำมาใช้และเลี้ยงชีพมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ประเพณีเหล่านี้ไม่มีตำนานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดแต่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณี จึงไม่มีใครถามถึงเหตุผลของการปฏิบัติการทำเกลือสินเธาว์ของคนชุมชนบ้านบ่อหลวง จึงเป็นมากกว่าการผลิตเพื่อยังชีพหรือเพื่อค้าขายแต่เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมของคนในชุมชนบ้านบ่อหลวง และอำเภอบ่อเกลือ จึงมากกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่เป็นจุดกำเนิดสำคัญแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมชาวบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือ ใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน  ดังเช่นปัจจุบันชุมชนบ้านบ่อหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้  อยู่ห่างจากตัวอำเภอ บ่อเกลือ ประมาณ 800 เมตร และห่างจากจังหวัดน่าน ประมาณ 108 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 62.6 ตารางกิโลเมตร  ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ราบ เรียกตัวเองว่า “คนเมือง”

            วัดบ่อหลวง เป็นวัดที่สร้างขึ้นคู่กับชุมชนบ้านบ่อหลวง  ซึ่งจะมีรอยพระพุทธบาทโบราณเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะ เป็นที่เคารพบูชาของคนในชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและใจกลางชุมชนบ้านบ่อหลวงยังมีศาลเจ้าหลวงบ่อ ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบ้านบ่อหลวง และมีบ่อเกลือสินเธาว์บนภูเขา จำนวน 2 บ่อ ชุมชนบ้านบ่อหลวงมีวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นต้น ชุมชนบ้านบ่อหลวง  เป็นที่ตั้งของบ่อเกลือภูเขาหนึ่งเดียวในโลกที่อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ที่ชาวบ้านยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือโบราณเอาไว้ด้วยวิธีการ“ต้ม” โดยจะตักน้ำเกลือขึ้นจากบ่อมาพักไว้ในภาชนะขนาดใหญ่ แล้วต้มในกระทะประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ให้น้ำค่อยๆ ระเหยไปจนเกลือตกผลึก จากนั้นตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกระทะเพื่อให้สะเด็ดน้ำ จนน้ำในกระทะใกล้แห้งหมด จึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำไปมาเรื่อยๆ ทั้งวันทั้งคืน พอได้เม็ดเกลือแล้ว บางคนก็ใส่ถุงขายเลย เป็นเกลือสินเธาว์แท้ๆ แต่เนื่องจากเป็นเกลือสินเธาว์เกลือที่ได้จากบ่อน้ำในชุมชน จึงไม่มีสารไอโอดีนเหมือนกับเกลือสมุทร จึงต้องเติมสารไอโอดีนก่อนถึงจะบริโภคได้ดี ทั้งนี้ก่อนที่จะต้มเกลือแบบนี้ได้ชาวบ้านต้องทำพิธีเลี้ยงผีเมืองและเจ้ารักษาบ่อเกลือ หรือ เจ้าซางคำ เสียก่อน โดยจะมีพิธีกรรมทุกๆ ปี  ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “งานแก้ม” เล่าสืบกันมาว่าสมัยก่อนเคยทำกันถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 วัน เท่านั้น  

           ภูมิประเทศ : ย่านชุมชนเก่าบ่อเกลือ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาขนาบทั้ง 2 ด้าน โดยรอบมีป่าไม้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

           กายภาพสำคัญ : ในพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อหลวงนั้นยังคงเหลืออาคารไม้ขนาดเล็กหลังคามุงจาก หรือหญ้าคา เป็นสถานที่ใช้ในการผลิตการต้มเกลือมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมถึงบ่อเกลือโบราณที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรักษาสภาพความเป็นบ่อเกลือโบราณไว้ โดยสภาพของบ่อเกลือโบราณยังคงใช้ไม้ทำฐานและท่อบ่อน้ำเกลือ โดยชุมชนบ้านบ่อหลวง มีกฎเกณฑ์ระเบียบการไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบนปากบ่อเกลือ  และชุมชนบ้านบ่อหลวง มีกลุ่มชาวบ้านผู้ต้มเกลือ มีการปรับพื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวิธีการต้มเกลือและถ่ายรูป บ่อเกลือโบราณ ได้  

           สังคม-เศรษฐกิจการผลิตเกลือเป็นอาชีพหลักของชุมชนบ้านบ่อหลวง มีการค้าขายสินค้าทางการเกษตร ของที่ระลึกและประชาชน บางส่วนได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว

บ่อหลวง เป็นชุมชนเกษตรกรรม และชุมชนกลุ่มอาชีพเฉพาะ บ้านบ่อหลวงตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากอำเภอบ่อเหลือประมาณ 800 เมตร และห่างจากจังหวัดน่านประมาณ 108 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีเนื้อที่ทั้งหมด 62.6 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ราบ เรียกตัวเองว่า "คนเมือง" แหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ วัดบ่อหลวง เป็นวัดที่สร้างขึ้นคู่กับหมู่บ้านบ่อหลวงบ่อเกลือสินเธาว์บนภูเขา จำนวน 2 บ่อ บ้านบ่อหลวงมีวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งภูเขาขนาบ 2 ด้าน มีป่าไม้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีอาคารไม้ขนาดเล็กหลังคามุงจาก เป็นสถานที่ใช้ในการผลิตเกลือมาตั้งแต่สมัยโบราณ และการผลิตเกลือเป็นอาชีพหลักของชุมชน และมีธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและค้าขายสินค้าการเกษตรบ้าง

ย่านชุมชนเก่าบ้านบ่อหลวง มีพื้นที่เป็นที่เชิงเขาใจกลางย่านชุมชนบ้านบ่อหลวง เป็นแหล่งผลิตเกลือและจำหน่ายเกลือสินเธาว์

เกลือภูเขาแห่งเดียวของโลก โดยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะประกอบอาชีพต้มเกลือค้า ขายเกลือและของที่ระลึก ซึ่งชุมชนบ้านบ่อหลวง       จะหยุดการต้มเกลือในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน เพราะถึงฤดูการทำนาข้าว การเกษตรปลูกพืชไร่ เช่น ฟักทอง แตงกวา พริกและอื่นๆ ตลอดทั้งปี บริเวณที่ใช้จัดกิจกรรมนันทนาการของชุมชนจะใช้ใจกลางของย่านชุมชมบ้านบ่อหลวงที่มีบ่อต้มเกลือโดยมีศูนย์กลาง คือวัดบ่อหลวง  ถนนในย่านชุมชน และโรงเรียนบ้านบ่อหลวง  ส่วนด้านธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเยี่ยมชมดูวิถีชีวิตคนต้มเกลือ และแหล่งธรรมชาตินอกจากนี้ ย่านชุมชนบ่อหลวงยังเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของจังหวัดน่านและสถาบันการศึกษา 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ชุมชนบ้านบ่อหลวง เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ยังคงรักษาถูมิปัญญาการทำเกลือทำแบบดังเดิมมาอย่างยาวนาน และยังคงรักษาวัฒนธรรม

อันเป็นเอกลักษณ์ของการทำเกลือแบบโบราณไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป  โดยชาวบ่อหลวงในพื้นที่จะให้ความสำคัญกับการทำเกลือ โดยจะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านบ่อหลวงไม่ผลิตผลิตเกลือในช่วงเข้าพรรษาและมีพิธีกรรมที่สำคัญๆ ทำมาโดยตลอดไม่เคยขาดในพิธีแก้ม  (พิธีบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อ) ในวันแรม 9 ค่ำ ของเดือน 5 เพื่อแสดงถึงความรพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ปกป้องรักษาบ่อเกลือมาเป็นเวลาช้านานกว่าหลายร้อยปี หมู่บ้านบ่อหลวง

จะปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกหมู่บ้านด้วยยานพาหนะทุกชนิดเป็นเวลา 3 วันแต่ยังสามารถเดินทางผ่านหมู่บ้านด้วยการเดินเท้า เท่านั้น เพราะช่วงเวลานี้ชาวบ่อหลวงจะทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ด้วยการบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อ จะมีการเลี้ยงเก้า หรือเลี้ยงผี เพื่อเป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์ที่ได้ปกปักคุ้มครองและให้เกลือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ที่พวกเขาสามารถนำมาใช้และเลี้ยงชีพตลอดไป  นอกจากนี้ชุมชนบ้านบ่อหลวง ยังรักษาและอนุรักษ์วิธีการต้มเกลือ ซึ่งเป็นวิธีการแบบดังเดิมและใช้ไม้แห้ง หรือฟืน เป็นเชื้อเพลิง

ชุมชนบ้านบ่อหลวง  การดำเนินชีวิตของคนในชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมอยู่  โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าพื้นที่

ที่ชาวบ้านชุมชนบ่อหลวงใช้ประกอบอาชีพต้มเกลือนั้น  ยังคงสภาพเป็นอาคารไม้ขนาดเล็กหลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือจากอยู่  และวิธีการผลิตเกลือนั้นยังคงใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา กล่าวคือชุมชนบ้านบ่อหลวง ยังคงใช้ฟื้น(ไม้แห้ง, หลัว) เป็นเชื้อเพลิงในการต้มเกลือ ถึงแม้ว่าพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อหลวงในปัจจุบันจะมีธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่เพิ่มเติมเข้ามา  แต่ร้านค้าในพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อหลวง  จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการตกแต่งร้าน ให้เข้ากับพื้นที่และบรรยากาศของชุมชนและท้องถิ่น  ซึ่งถ้าเรามองดูภาพรวมของชุมชนก็ยังเห็นของใช้เป็นเอกลักษณ์ของย่านชุมชนเก่า อยู่ทั่วไป

ชุมชนบ้านบ่อหลวง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คนในชุมชนก็มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ นั้นก็คือการต้มเกลือ(เกลือบนภูเขา)  ทำให้ชุมชนบ้านบ่อหลวง เป็นแหล่งศิลปกรรมวัฒนธรรมและประเพณีที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชุมชนบ่อหลวง ซึ่งการที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมบ้านบ่อหลวงแล้วเกิดความประทับใจนั้น ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้ช่วยกันรักษาและสืบทอดวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านบ่อหลวงไว้ไม่ว่าจะเป็นวิธีการต้มเกลือโบราณ การสร้างอาคารต้มเกลือแบบโบราณ รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ที่สืบทอดต่อๆ กันมา  จึงเป็นส่วนช่วยให้ชุมชนบ้านบ่อหลวง ยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

แก้ไขเมื่อ

2021-10-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร