ย่านชุมชนเก่าบ้านปากนาย


ละติจูด 18.0542715918 , ลองจิจูด 100.680624279

พิกัด

บ้านปากนาย ตำบลนาทะนุง อำเภออำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55180

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ย่านชุมชนเก่า

ความสำคัญ/ลักษณะ

ประวัติความเป็นมา  : หมู่บ้านประมงปากนาย 

            จากคำกล่าวขานที่ผ่านมา “แข่งเรือล้านนา  เมืองงาช้างดำ  จิตรกรรมวัดภูมินทร์  เสาดินนาน้อย  แอ่วดอยภูคา ชิมปลา      ปากนาย  ผ้าลายน้ำไหล  มะไฟจีนรสดี  ลิ้นจี่ชวนลอง  ส้มสีทองเมืองน่าน” ครั้งหนึ่ง “ปากนาย”  ติดอันดับในคำขวัญของจังหวัดน่าน   ซึ่งในอดีตนั้น ปากนายเป็นชื่อของลำห้วยหนึ่ง  ซึ่งเรียก ห้วยบ่าวนาย หรือห้วยเจ้านาย หรือ ปากห้วยนาย  ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่  ในสมัยก่อนเจ้านายขุนนางทุกคนที่จะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาหรือสยาม จะต้องมาพักที่บริเวณลำห้วยนี้ ซึ่งที่พักเป็นลานกว้างมีน้ำไหลตลอดปี จึงเรียกชื่อห้วยนี้ว่า“ห้วยเจ้านาย หรือห้วยบ่าวนาย” และลำน้ำห้วยแห่งนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน บริเวณนั้นจึงเรียกว่า “ปากห้วยเจ้านายหรือปากนาย” เป็นเรื่องที่เล่าขานสืบต่อๆ กันมา  และได้บ่งบอกถึงปากห้วยที่มีลำห้วยขนาดใหญ่ เดินทางลัดเลาะคดเคี้ยว เป็นแหล่งหาปลาของคนในอดีตที่ทำนั่งร้านไม้ไผ่ซุ้มหาปลาของแต่ละหมู่บ้านแพทำจากไม้ไผ่ และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังท่าปลา (อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน)  ส่วนชื่อเดิมเรียกว่า "ทับป่า" ขึ้นอยู่กับเมืองน่าน  ในสมัยที่ยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครองนครน่านเมื่อประมาณร้อยปีเศษ  โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลา  เข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน  ต่อมาในปี พ.ศ. 2466  จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามตำนานเคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน  มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึกเชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก  ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงจะนำหิน    ไปสกัดและเรียกบริเวณนี้ว่า "บ่อแก้วตาปลา" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "แก้วท่าปลา" และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า "บ้านท่าปลา" ซึ่งเป็นคำเมือง หมายถึง รอปลาขึ้นและจับปลานั่นเอง  

           องค์ประกอบสำคัญของแหล่งมรดกย่านชุมชนเก่า

           1. องค์ประกอบที่เป็นกายภาพสำคัญ :  ทะเลสาบน้ำจืดล้อมรอบด้วยทิวเขาเขียวขจี ที่พักอาศัยเป็นเรือนแพ การสัญจรทางน้ำโดยเรือหางยาวและมีแพยอสำหรับหาปลา ร้านอาหารบนเรือนแพ สถานที่ให้บริการแพขนานยนต์(โป๊ะ)ข้ามฟาก แหล่งปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์เป็นคลังอาหารของจังหวัดน่าน 

           2.  องค์ประกอบที่ไม่เป็นกายภาพ : ถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวประมง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการหาปลาและการแปรรูปอาหารจากปลา อาหารจากเมนูปลาน้ำจืดที่ใหม่สด 

 

ชุมชนบ้านปากนาย  เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน  ตำบลนาทะนุง  อำเภอนาหมื่น  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการพื้นที่  ได้แก่  กรมธนารักษ์  กรมเจ้าท่า  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนสิริกิติ์  จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทางกฎหมาย  ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน

          การใช้ประโยชน์จากพื้นที่  จึงเป็นลักษณะของที่พักอาศัยเป็นแบบเรือนแพ  และมีการอพยพโยกย้ายเรือนแพไปตามระดับน้ำน่านเหนือเขื่อนสิริกิตติ์และสภาพอากาศ  ชุมชนบ้านปากนายมีครัวเรือนทั้งหมด จำนวน  64  ครัวเรือน  และร้านอาหารที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว  จำนวน  2  แห่ง  มีแพยอสำหรับหาปลาของชาวประมง จำนวน  30  หลัง เรือลากจูง โป๊ะให้บริการข้ามฟาก จำนวน  11  ลำ  สำหรับพื้นที่บนพื้นดินมีการสร้างจุดชุมวิว และที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว  มีถนนคอนกรีตโดยรอบเกาะ  มีศาสนสถาน จำนวน  1  แห่ง  ได้แก่  สำนักสงฆ์บ้านปากนาย

หมู่บ้านประมงปากนาย 

          ทะเลสาบน้ำจืดล้อมรอบด้วยทิวเขาเขียวขจี ปรากฏการณ์สุดยอดทางธรรมชาติที่สวมงาม ชุมชนประมงเหนือเขื่อนสิริกิติ์ที่อาศัยอยู่บนเรือนแพแห่งเดียวในจังหวัดน่าน  มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟู ความโดดเด่นในวิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นการหาปลาและการแปรรูปอาหารจากปลา สัมผัสธรรมชาติ กินลม ชมวิว ชิมปลาจากเมนูอาหารที่ทำจากปลาสดสดหลากหลายชนิด เป็นแหล่งพันธุกรรมสัตว์น้ำที่หลากหลายอันแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและระบบนิเวศน์มีสัตว์น้ำหลายหลา เช่น ปลาซิวแก้ว ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาบึก  ปลากด ปลาคัง ปลาตะเพียนแดง รวมไปถึงกุ้งแม่น้ำเป็นต้น นับเป็นคลังอาหารที่สำคัญของชุมชนและจังหวัดน่าน    

บ้านปากนาย เป็นชุมชนเกษตรกรรม และชุมชนริมน้ำ เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่านหลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ชาวบ้านอพยพมาจากหลายแห่งหมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นชุมชนริมน้ำขนาดใหญ่มีภูเขาขนาดใหญ่โดยรอบ มีกลุ่มเรือนแพ ที่มีการประกอบกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ที่พักอาศัย ร้านค้า ที่พักนักท่องเที่ยว ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหาร และห้องพักมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและมีการพึ่งพาอาศัยกันอย่างมาก

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

ชุมชนเก่าบ้านปากนาย  ความเป็นย่านชุมชนเก่าในอดีตของชุมชนเก่าบ้านปากนาย สภาพอาคารบ้านเรือนเป็นแบบเรือนแพ ที่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก หรือใบตองตึง  ที่สร้างแบบเรียบง่ายพอเป็นที่พักอาศัย ตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งน้ำ ภายหลังเริ่มมีเรือนแพที่สร้างด้วยไม้มีทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้นสำหรับเป็นร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว  และในปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายเรือนแพออกไปอาศัยตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่ไกลออกไป เนื่องจากปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยแล้ง และการปล่อยน้ำของเขื่อนสิริกิติ์  แต่หากมีระดับน้ำสูงขึ้นชาวชุมชนบ้านปากนาย ก็จะมีการเคลื่อนย้ายเรือนแพกลับมาอาศัยอยู่ที่เดิม  และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบเดิมอยู่  ในปัจจุบันรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตยังคงมีแบบแผนเดิมภายใต้กาลเวลาที่เปลี่ยนไป ชุมชนบ้านปากนาย มีการดำรงชีวิตเป็นชาวประมงน้ำจืด นอกจากนั้นยังดำเนินการธุรกิจการท่องเที่ยว

ย่านชุมชนเก่าบ้านปากนาย  เป็นชุมชนที่มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นชุมชนริมน้ำอาศัยในเรือนแพ  ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของทางธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมจังหวัดน่าน ซึ่งได้พัดพาดินโคลน หิน ทรายไหลทับถมทำให้เกิดเกาะแก่งร่องน้ำลึก และน้ำเริ่มตื้นเขิน  มีเศษขยะจำนวนมหาศาลที่ไหลมากับสายน้ำน่าน และมารวมไว้ที่ปากนายใต้สุดของลำน้ำน่าน เหนือเขื่อนสิริกิติ์

             สภาพปัญหาภัยแล้งและวาตภัย  การเสี่ยงจากภัยจากธรรมชาติที่ทำให้ในทุกๆ ปี เรือนแพที่ได้รับความเสียหายจำเป็นต้องอพยพ โยกย้ายไปตามเกาะแก่งต่างๆ ในช่วงฤดูหน้าแล้งซึ่งชุมชนบ้านปากนายจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และมวลขยะที่ไหลมาตามน้ำในฤดูน้ำหลาก   ก็จะแห้ง หากมีลมพัดจะส่งกลิ่นเหม็นเศษขยะจะปลิวกระจายไปทั่ว  และผลกระทบจากการปล่อยลำน้ำน่านของเขื่อนสิริกิติ์ ในฤดูน้ำหลาก สร้างความไม่สมดุลทางระบบนิเวศของชุมชน  แต่ทั้งนี้ด้วยความที่มีเอกลักษณ์จึงควรได้รับการประกาศยกย่องซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรได้ศึกษาถอดบทเรียนและรับฟังความเห็นของชาวชุมชนบ้านปากนาย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และส่งเสริมสภาพแวดล้อม  ให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เตรียมพร้อมต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดน่าน ต่อไป

แก้ไขเมื่อ

2021-10-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร