วัดบ้านกรับดอนแสลบ


ละติจูด 14.295087302753 , ลองจิจูด 99.746923740907

พิกัด

ถนนหมายเลข ๓๓๖๓ บ้านกรับ ตำบลดอนแสลบ อำเภออำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71170

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดบ้านกรับดอนแสลบ

วัดบ้านกรับดอนแสลบ  ตั้งอยู่ที่  ถนนหมายเลข ๓๓๖๓  บ้านกรับ  ตำบลดอนแสลบ  อำเภอห้วยกระเจา  จังหวัดกาญจนบุรี  เป็นวัดเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในละแวก ใกล้เคียงนั้น เช่น วัดเขารักษ์ วัดสระกระเบื้อง และวัดโบสถ์ (วัดร้าง) เป็นต้น  ดังความในหนังสือ “ประวัติวัดบ้านกรับและเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัด”  ที่เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก  อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ เรียบรียงและพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระไตรปิฎก ฉลองตราตั้งอุปัชฌาย์เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก และเปิดสุขศาลาประจำตำบลดอนแสลบ   เมื่อวันที่  ๕-๖-๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕  ท่านเขียนประวัติของวัดไว้ดังนี้

“วัดบ้านกรับ ตั้งอยู่ในเขตต์หมู่ที่ ๑  ตำบลดอนแสลบ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีเดิมทีเดียววัดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดบ่อไผ่”  โดยถือเอาบ่อน้ำซึ่งตั้งอยู่ใกล้กอไผ่  จึงให้นามตามนั้น  มาเปลี่ยนนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดบ้านกรับ”  โดยถือเอาหมู่บ้านหมู่หนึ่งซึ่งอยู่ทางทางทิศตะวันออกของวัดมาเป็นนามวัด  แต่ชาวบ้านมักเรียกตามนามตำบลในปัจจุบันนี้ว่า “วัดดอนแสลบ”  บ้างก็มี  เดี๋ยวนี้ถือยุติกันว่า  “วัดบ้านกรับ”  ตามทางการ” 

และความอีกตอนหนึ่งว่า

“วัดบ้านกรับนี้เป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง  รุ่นวัดเก่า ๆ ทั้งหลาย  ในท้องที่ตำบลนี้ การสืบประวัติบุคคลผู้สร้าง และลำดับเจ้าอาวาสนั้นยากที่จะสืบค้นให้ละเอียดถี่ถ้วนได้  แต่ผู้สูงอายุผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า  ถึงฤดูกาลเข้าพรรษา  มีพระอยู่จำพรรษาทุกปี    แต่เมื่อออกพรรษาแล้วแล้วบางปีก็ขาดพระไปบ้าง”

ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗   กระทรวงมหาดไทยประกาศยกฐานะตำบลห้อยกระเจาเป็นกิ่งอำเภอห้วยกระเจา ใน และมีพระราชกฤษฎีการยกเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ วัดบ้านกรับจึงขึ้นกับอำเภอห้วยกระเจาแต่นั้นมา

อุโบสถวัดบ้านกรับดอนแสลบ

เมื่อแรกที่ไปสำรวจโบราณสถานสมัยอยุธยาในจังหวัดกาญจนบุรี  ไม่พบว่าวัดนี้มีโบรานสถานเก่าอื่นใดเลย  นอกจากอุโบสถหลังเก่าของวัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น    ต่อเมื่ออาจารย์มานิตย์  แดงเพ็ชร  ส่งไฟล์เอกสารหนังสือเก่า ประวัติวัดบ้านกรับ ของเจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก มาให้  จึงทำให้ทราบว่า “วัดนี้มีโบสถ์เก่า  ชำรุดหักพังและมีกำแพงแก้วล้อมรอบโบสถ์อยู่  ขุนทวนธีระคุณ  กำนันเก่าตำบลดอนแสลบ พร้อมด้วยโยมเชย     เชื้อโห้  และโยมชื่น  ภุมรินทร์  ซึ่งเป็นมรรคทายกของวัด  จะทนนิ่งดูความซุดโซมของโบสถ์ ซึ่งถูกภัยธรรมชาติรบกวนอยู่ไม่ไหวแล้ว  จึงประชุมหารือชาวบ้าน และพร้อมกันไปขออาราธนาพระมั่ง  ชาวตำบลหนองขาว  ซึ่งมาจำพรรษาอยู่กับท่านสมุห์อาจ  เจ้าอาวาสวัดเขารักษ์  ให้มาเป็นหัวหน้าปกครองวัด...ท่านมาปกครองวัดนี้ในราว พ.ศ. ๒๔๔๘-๔๙  แล้วท่านได้เป็นผู้จัดการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์  บูรณะโบสถ์เก่า (ตามคำแนะนำและแผนผังของท่านสมุห์อาจ”

นี้จึงเป็นที่มาของการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่าของวัดบ้านกรับ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  การบูรณะสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๗  ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๖  และมีข้อความจารึกด้วยอักษรไทยโบราณ  ไว้บนผนังเหนือกรอบประตูทางเข้าอุโบสถ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟ้อน  เปรมพันธุ์ ปริวรรตเป็นอักษรปัจจุบัน ดังนี้

“ชาวบ้านกรับและดอนแฉลบ ได้ชักชวนคิดก่อสร้างพระอุโบสถวัดบ่อไผ่ สิ้นเงิน  ๓,๒๐๐  บาท     ขุนฤทธิราญณรงค์ ทำบุญ  ๓๖  บาท ขุนทวนธีรคุณ ผู้ใหญ่ชื่น จัดการตำบลจระเข้สามพัน ๘๐ บาท  ตำบลทุ่งสมอ ทำบุญ ๒๗  บาท  ตำบลเขารักษ์ ทำบุญ  ๑๓  บาท ตำบลดอนงิ้ว ทำบุญ ๗๒  บาท ตำบลสะพังลาน ทำบุญ  ๑๒  บาท   ตำบลหนองปลิง ทำบุญ  ๑๑   บาท  ตำบลปากครึก[1] ทำบุญ ๖๒  บาท  ตำบลบ้านยาง ทำบุญ ๑๐  บาท  ตำบลหนองบัว ทำบุญ  ๘  บาท  ตำบลบ้านทวน ทำบุญ  ๕๒  บาท  ตำบลวังนาค ทำบุญ  ๘ บาท ตำบลห้วยกระเจา  ทำบุญ  ๗  บาท  ตำบลเลาขวัญ  ทำบุญ  ๖  บาท  ตำบลวังหลุมพอง ทำบุญ  ๗  บาท  ตำบลคอตัน[2] ทำบุญ  ๗   บาท  ตำบลบ้านบางลี่ ทำบุญ  ๒๙  บาท 

ตำบลหนองบอน ทำบุญ  ๖  บาท พ่อขอม  แม่จีน มีใจสัตย์ ทำส่วนตัวสร้างพระเสมารอบพระอุโบสถ และพระเจดีย์อีก ๒ องค์ สิ้นเงิน  ๑๓๒  บาท  แล้ว ณ วัน  ๒ ฯ ๔ ปีขาล[3]  วันที่  ๑๕  มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗”

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

โบสถ์เก่าวัดบ้านกรับเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเขียง มีความกว้างประมาณ  ๖  เมตร ยาวประมาณ ๑๔  เมตร  หลังคามุงกระเบื้อง มีพาไลคลุมเฉลียงด้านหน้ามีเสาทรงสี่เหลี่ยมรับพาไล ๓ ต้น มีประตูเข้า-ออกตรงกลางเพียงช่องเดียว  กรอบประตูประดับดัวยปูนปั้นลายเถา บางส่วนชำรุด ปัจจุบันมีการซ่อมด้วยการทาสีใหม่ ปูนปั้นส่วนที่ชำรุดทำการระบายสีต่อลาย  สีสดโดยเน้นที่สีเขียวและสีแดง  ตรงกลางซุ้มเหนือกรอบประตูมีบันทึกเรื่องราวการสร้างอุโบสถในปี พ.ศ. ๒๔๕๗  ดังข้อความที่กล่าวแล้วข้างต้น

ภายในอุโบสถมีเสาไม้ทรงกลมจำนวน ๘ ต้น มีช่องหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง มีลูกกรงเหล็กติดไว้ พื้นโบสถ์เป็นพื้นปูนไม่ปูกระเบื้อง  เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก บันทึกไว้ว่า “ภายในมีพระพุทธปฏิมา  พระประธานใหญ่ ๑ องค์  พระพุทธรูปธรรมดามีจำนวนหลายองค์ ไว้เป็นที่สักการบูชา” 

หน้าบันด้านหลังอุโบสถ (ทิศตะวันตก) มีภาพปูนปั้นผสมสี ด้านบนเป็นภาพพระราหูอมจันทร์  ด้านล่างเป็นภาพพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิเพชร ถือคัมภีร์ใบลาน คล้ายกำลังแสดงธรรม  มีโต๊ะ ๒ ตัวซ้าย ขวา บนโต๊ะมีพานกับของอีก ๑ อย่างวางไว้  เหนือขึ้นไปมีวัสดุคล้ายตะเกียงหรือหลอดไฟฟ้าทั้ง ๒ ด้าน ห่างออกไปเป็นภาพนาฬิกา  มุมล่างสุดทั้ง ๒ ข้าง มีตะลุ่มใส่ผลมะม่วงและฟักทองเต็มตะลุ่ม ประดับด้วยปูนปั้นลายเครือเถาและดอกไม้สีสดงดงาม

กรอบหน้าต่างด้านนอกทั้ง ๔ ช่อง ประดับด้วยลายปูนปั้นสีจากของช่องหน้าต่างขึ้นไป ตรงกลางปั้นเป็นซุ้มด้วยสีคล้ายประตูหน้าอุโบสถ

หน้าบันด้านหน้ามีภาพปูนปั้นสี ตอนบนเป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะกำลังปลงพระเกศา  ฝั่งขวามีม้ากัณฐกะ ด้านซ้ายเป็นภาพนายฉันนะ  ส่วนด้านล่างเป็นรูปฤาษีตนหนึ่ง คล้องสังวาล นั่งขัดสมาธิ มีภาพปั้นเทวดาพนมมืออยู่ฝั่งซ้ายและขวาฝั่งละ ๑ ตน

จากการประเมินสภาพแวดล้อมทั่วไปของอุโบสถเก่า  พบว่าทางวัดมีการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถเล็ก ๆ น้อย ๆ มาหลายครั้ง  ที่เห็นชัดคือหลังคาอุโบสถ และพาไลด้านหน้า  ครั้งล่าสุดที่เข้าไปสำรวจเมื่อวันที่  ๑๐  เมษายน  ๒๕๖๔  พบว่า ทางวัดได้มีการเทปูนลานโดยรอบอุโบสถ  และตกแต่งระบายสีลวดลายปูนปั้นบริเวณประตู  หน้าต่าง  และพระเจดีย์ ๒ องค์ ด้านหน้าอุโบสถเสียใหม่   แม้จะใกล้เคียงกับโทนสีเดิม แต่ในอีกมิติของการอนุรักษ์  กลับทำให้คุณค่าของศิลปะและโบราณสถานนั้นสูญเสียความเป็นของดั้งเดิม ที่สมควรส่งมอบให้คนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังพบว่าบริเวณด้านข้างอุโบสถฝั่งทิศใต้  ห่างออกไปประมาณ ๑๐  เมตร มีต้นอิน-จัน เก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง  ซึ่งน่าจะมีอายุการปลูกคราวเดียว กับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี  ๒๔๕๗  สมควรได้รับการดูแล บำรุงรักษาให้เป็น “รุกขมรดก” ของวัดและชุมชนสืบไป

อนึ่ง เมื่อทางวัดก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่เสร็จเมื่อปี ๒๕๓๙  อุโบสถหลังเก่าจึงถูกปิด    และเปิดใช้งานในวาระพิเศษ ๆ ของวัดเท่านั้น  

เจดีย์  ๒  องค์ ที่พ่อขอม  แม่จีน  บริจาคเงินสร้าง

จากแผ่นจารึกการสร้างอุโบสถหลังเก่า ระบุว่า  พ่อขอม  แม่จีน  บริจาคเงินจำนวน ๑,๓๒๐  บาท  ก่อสร้างพระเจดีย์ทั้ง  ๒  องค์ พร้อมใบเสมารอบโบสถ์   นั้น  ปัจจุบันเสมารอบอุโบสถไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว  คงเหลือแต่พระเจดีย์ ๒  องค์ ที่อยู่ด้านหน้าอุโบสถ    

ดร. ปรัชญา  เหลืองทอง อาจารย์ที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์  ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  ได้อธิบายลักษณะของพระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ไว้ดังนี้

พระเจดีย์องค์ใหญ่ (ซ้ายเมือง)

พระเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปกรรมร่วมสมัย ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก องค์เจดีย์สร้างขึ้นในผัง ๔ สี่เหลี่ยมเพิ่มมุม (หรือ ที่มักเรียกกันว่าเจดีย์ย่อมุม) ตัวฐานเจดีย์ประกอบด้วยชุดฐานสิงห์จำนวน ๒ ฐาน ลักษณะของฐานสิงห์ประกอบด้วย แข้งสิงห์และนมสิงห์ ส่วนกลางหรือองค์ระฆังมีบัวทรงคลุ่มรองรับ ทั้งองค์ระฆังและบัวทรงคลุ่มอยู่ในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมเช่นเดียวกันกับชุดฐาน  บริเวณมุมของปากระฆังตวัดขึ้นเล็กน้อย องค์ระฆังทั้ง ๔ ด้าน เจาะช่องเป็นซุ้มจระนำ กรอบซุ้มจระนำแต่ละด้านประดับด้วยลายกระหนกตัวเหงา ภายในช่องจระนำประดิษฐานประติมากรรมพระพุทธรูปปูนปั้นในอิริยาบถประทับยืน จำนวน ๑ องค์ ไม่ซ้ำกัน ทั้ง ๓ ด้าน ประกอบด้วย ปางประทานอภัย ปางอุ้มบาตร และ ปางห้ามญาติ ส่วนอีกด้านเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปพระสาวกยืนประนมมือ  ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดประกอบด้วยองค์บัลลังก์เจดีย์สี่เหลี่ยมอยู่ในผังเพิ่มมุมเช่นเดียวกัน ต่อด้วยบัวทรงคลุ่มเถาปลียอดและเม็ดน้ำค้างที่อยู่ในสภาพชำรุด

ปัจจุบันองค์เจดีย์ได้มีการตกแต่งด้วยการทาสีขาว และใช้สีทองทาตัดเส้นกรอบซุ้มจระนำ จีวรพระพุทธรูปและพระสาวก  แข้งสิงห์ และ นมสิงห์

เจดีย์องค์เล็ก (ขวามือ)

เจดีย์อีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปกรรมร่วมสมัยด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่นเดียวกัน เจดีย์องค์นี้อยู่ในผัง ๔ เหลี่ยมเพิ่มมุม ตัวฐานเจดีย์ประกอบด้วยชุดฐานสิงห์จำนวน ๒ ฐาน ลักษณะของฐานสิงห์ประกอบด้วยแข้งสิงห์และนมสิงห์ แข้งสิงห์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นลายใบไม้ ซึ่งปั้นเป็นลายอย่างเทศ  ส่วนกลางเป็นองค์ระฆังทรงกลมมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเพรียวและชะลูด  มีบัวทรงคลุ่มรองรับ ส่วนยอดประกอบด้วยองค์บัลลังก์เจดีย์ทรง ๔ เหลี่ยม ต่อด้วยบัวทรงคลุ่มเถา ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง ปัจจุบันทั้งองค์เจดีย์มีการใช้สีฟ้า ขาว และชมพู ในการทาสีตกแต่ง

จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้ทราบว่าเจดีย์ทั้ง ๒ องค์นี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งรูปแบบของเจดีย์มีความสอดคล้องกับรูปแบบและพัฒนาการของเจดีย์ในประเทศไทย ในช่วงงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่วัด หน่วย งานราชการ ราษฎร หรือ ประชาชนทั่วไป นิยมสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์  เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังศรัทธาของชุมชน หรือ การสร้างเจดีย์ขึ้นตามวัดเป็นเจดีย์ประจำตระกูลขึ้น ด้วยเทคนิคการก่อสร้างที่สะดวก และง่ายขึ้นมากกว่าเดิม

_______________________________________
เอกสารประกอบ

เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก. (๒๔๙๕). ประวัติวัดบ้านกรับ และเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัด.  พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระไตรปิฎก ฉลองตราตั้งอุปัชฌาย์เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก และเปิดสุขศาลาประจำตำบลดอนแสลบ   เมื่อวันที่  ๕-๖-๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕.  พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.[ออนไลน์]. ได้จาก http://online.anyflip.com/zvptn/bwjb/mobile/index.html?fbclid=

IwAR1GBTWQfMOTrm12HTJkkouTTahc7IJJjZRn_pAzJqpYCyQxipnmnrTDhps [ สืบค้นเมื่อ  ๒๕  พฤษภาคม  ๒๕๖๔].

ขอขอบคุณ

อาจารย์ ดร. ปรัชญา  เหลืองทอง แห่งสาขาวิชาสังคมศึกษา  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี

อาจารย์มานิตย์  แดงเพ็ชร ข้าราชการบำนาญโรงเรียนบ้านดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

 


[1] ยังไม่สามารถระบุได้ว่าตำบลปากครึกคือสถานที่ใดในปัจจุบัน
[2] น่าจะเป็นบ้านคลองตัน ซึ่งอยู่อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี
[3]อ่านว่า  วันจันทร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔  ปีขาล
[4] พ่อขอม  แม่จีน  จากหนังสือประวัติวัดบ้านกรับ  เจ้าอธิการบ่าย  สุเขมโก  ระบุว่า เป็นบิดาและมารดาของ ขุนทวนธีรคุณ  อดีตกำนันตำบลดอนแสลบ

_________________

เขียน : ฟ้อน เปรมพันธุ์, อรพรรณ ศรีทอง
ภาพ : ประพฤติ มลิผล, รัตนากร พุฒิเอก
ผู้ร่วมสำรวจ/ข้อมูล : ประพฤติ มลิผล (เล็ก บ้านใต้), สมชาย แสงชัยศรียากุล

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2021-05-01

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร