วัดท่าล้อ


ละติจูด 13.989591 , ลองจิจูด 99.555479

พิกัด

ตำบลท่าล้อ อำเภออำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

ตำบล ท่าล้อ อำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี ๗๑๐๐๐

 

วัดบ้านทอง  เดิมชื่อว่า วัดท่าล้อ อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง  มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบ้านทองเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมานี้ จากการสอบถามยังไม่ทราบสาเหตุของการเปลี่ยน   ประวัติของวัดที่ค้นได้จากเว็บไซต์ของวัด  ระบุว่าเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยพ.ศ. ๒๒๐๐ คือเกินกว่า ๓๐๐ ปี 

ชื่อวัดท่าล้อปรากฏในเอกสาร  เรื่องเที่ยวไทรโยค  คราวสมเด็จพระราชปิตุลา  บรมพงศาพิมุข เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  พระองค์เสด็จถึงบริเวณนี้เมื่อ วันอาทิตย์ที่  ๑๕  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงมีพระนิพนธ์ความดังนี้

“เวลา  ๑๒.๐๐ น. ปรอท ๘๙ ฟ. เวลา  ๑๒.๔๐ ออกเรือพระที่นั่งจากบ้านถ้ำ  จากตำบลนี้ขึ้นไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีน้ำไหลเชี่ยวแรง  ผ่านจากบ้านถ้ำไปถึงวัดท่าล้ออยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ  ต่อจากนั้นขึ้นไปก็ถึงวังรำแพนอยู่ทางฝั่งขวา  ทางฝั่งซ้ายมีหาดทรายปนกรวดใหญ่  แต่เรียกกันว่าหาดบ้านทอง”

 

อุโบสถและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

          อุโบสถหลังเก่าวัดบ้านทอง (ท่าล้อ) ปรากฏหลักฐานที่จารึกอยู่บนแผ่นสีมาทุกแผ่นรอบอุโบสถว่า “พ.ศ. ๒๔๕๖”    จึงสันนิษฐานว่า อุโบสถเก่าหลังนี้น่าจะจัดพิธีผูกพัทธสีมาในปีดังกล่าว ซึ่งตรงกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖   ในสมัยพระครูเภา เป็นเจ้าอาวาส  เนื่องจากพบจารึกบนแผ่นหินอ่อนเจดีย์เก็บอัฐิ  ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ ภายในกำแพงแก้วด้านขวามือมีข้อความว่า  “พระครูเภา อดีตเจ้าคณะแขวงวังขนาย  มรณะ พ.ศ. ๒๔๖๐”  หลังงานผูกพัทธสีมา  ๔  ปี

          อุโบสถเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนขนาดไม่ใหญ่นัก มีพาไลด้านหน้ามีเสาปูน  ๔  เสา มีทางเข้าด้านทิศเหนือและใต้  ประตูเป็นบานไม้มีลวดลาย ๒ ประตู มีอกเลาเป็นไม้แกะสลักลวดลายงดงาม  ช่องหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง  ภายในโถงอุโบสถมีแท่นประดิษฐานพระประธานปูนปั้นมีนามว่า หลวงพ่ออู่ทอง  พร้อมพระพุทธรูปบริวารหลายองค์  มีเสากลมค้ำเครื่องบนจำนวน  ๓  คู่   แบ่งเป็น ๔ ห้อง

          หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มุงกระเบื้อง เครื่องลำยองเป็นปูน  ช่อฟ้าปากครุฑ  ส่วนหางหงส์แบบนาคเศียรเดียว (เหมือนอุโบสถวัดท่าเรือ)  พื้นที่ส่วนของหน้าบันเรียบไม่มีลวดลายประดับ

          รอบอุโบสถมีกำแพงแก้วเหลือเพียง ๓  ด้าน ด้านหน้าถูกรื้อออกไป  ถัดเข้ามาเป็นซุ้มใบสีมามีลักษณะเป็นซุ้มยอดปรางค์ จำนวน ๘ ซุ้ม ใบเสมาทำจากหินแกรนิต ประดิษฐ์ลวดลายและจารึก พ.ศ. ๒๔๕๖ ทุกแผ่น

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

มีการบูรณะ และมีพระภิกษุจำพรรษา

แก้ไขเมื่อ

2021-08-20

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร