ปราสาทเขาโล้น


ละติจูด 14.057583455919 , ลองจิจูด 102.69629871251

พิกัด

บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภออำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว รหัสไปรษณีย์ 27180

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน สถาน หลักเมือง

ความสำคัญ/ลักษณะ

ปราสาทเขาโล้นเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างของเทวาลัย ซึ่งสร้างด้วยอิฐที่ขัดฝนจนรอยต่อของแต่ละก้อนเรียบสนิท ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางของศาสนสถาน เป็นอาคาร ๓ หลังเรียงตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ตั้งอยู่บนฐานร่วมกันซึ่งเรียกว่าฐานไพที ปราสาทหลังกลางมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทอีก ๒ หลังเล็กน้อย

ปราสาททั้ง ๓ หลังมีประตูทางเข้าเพียงช่องเดียวทางด้านทิศตะวันออก ภายในมีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ แต่ปัจจุบันพบเพียงชิ้นส่วนแท่นฐานเท่านั้น ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเรียกว่าชั้นวิมาน ในการดำเนินงานทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนปราสาทจำลองและบรรพแถลงทำจากหินทราย สันนิษฐานว่าใช้ประดับในแต่ละชั้นของส่วนยอด

ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์หรือประดิษฐานรูปเคารพ บรรณาลัยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าหาปราสาทประธาน ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้ว
ด้านทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก มีซุ้มประตูที่เรียกว่าโคปุระ โคปุระทิศตะวันออกเป็นโคปุระที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นทางเข้า-ออกโบราณสถานเพียงทางเดียว

แผนผังของปราสาทเขาโล้นมีลักษณะคล้ายกับแผนผังของปราสาทเขมรที่สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในศิลปะบาปวน เช่น ปราสาททอง จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

ปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่บนยอดภูเขาหินทราย จึงมีการใช้ประโยชน์จากหินทรายธรรมชาติ โดยนำมาปรับแต่งพื้นที่บนยอดเขาให้เป็นเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อก่อสร้างปราสาท และนำมาวางเรียงให้เป็นทางขึ้นสู่ปราสาท บริเวณเชิงเขามีบารายหรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างจากคันดินคร่อมลำน้ำธรรมชาติสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในศาสนสถานและชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาท

ปราสาทเขาโล้นสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากมีการค้นพบจารึกที่บริเวณวงกบประตูระบุศักราชที่ตรงกับพุทธศักราช ๑๕๕๙ ซึ่งอยู่ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะของทับหลังที่กำหนดอายุได้ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนต้น โดยเป็นรูปบุคคลหรือเทวดานั่งอยู่เหนือเกียรติมุขหรือหน้ากาล อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปกป้องสิ่งชั่วร้าย นิยมประดับอยู่เหนือประตูทางเข้า หน้ากาลอ้าปากแลบลิ้น มีท่อนพวงมาลัยโผล่ออกมาจากใต้ลิ้น มือทั้งสองข้างจับพวงมาลัยไว้ ปลายพวงมาลัยขมวดเป็นลายก้านขด

จากหลักฐานภาพถ่ายเก่า พบว่าบริเวณซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานเคยมีวงกบประตู เสาประดับกรอบประตูแปดเหลี่ยม และทับหลังทำจากหินทราย ซึ่งปัจจุบันพบว่าจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในต่างประเทศ กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอนำกลับคืนสู่ประเทศไทย เพื่อนำความสมบูรณ์ให้กลับคืนมาสู่ปราสาทเขาโล้นดังเดิม

โบราณสถานปราสาทเขาโล้นได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๑๒ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๒

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

การคืนทับหลังปราสาทเขาโล้น ตำบลทัพราช อำเภอตาพะยา จังหวัดสระแก้ว
        ทับหลังของปราสาทเขาโล้นได้สูญหายไปจากที่ตั้งในช่วงราว พ.ศ. 2509 - 2511 แต่กลับไม่ปรากฎรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหายแต่อย่างใด ต่อมาได้ปรากฏทับหลัง 2 รายการ ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานชิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บริจาคโดยนาย Avery Brundage 
        กรมศิลปากร(ศก. ) กระทรวงวัฒนธรรม จึงนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีทราบและพิจารณาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ใช้ระเวลา 5 ปี จึงได้ทับหลังกลับคืนสู่ประเทศโทย โดยทำพิธีรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564  ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีรับมอบ โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย มีการจัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ภาพทับหลังปราสาทเขาโล้น ตำบลทัพราช อำเภอตาพะยา จังหวัดสระแก้ว
(ภาพจาก https://www.thaipost.net/main/detail/104918)

 

ทับหลังปราสาทเขาโล้น เก็บรักษาและจัดแสดงที่ศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

          นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการได้รายงานความคืบหน้ากรณีทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ที่ได้รับคืนมาจากสหรัฐอเมริกาครบ 1 ปีแล้ว ปัจจุบันได้จัดแสดงเป็นการชั่วคราว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะสิ้นสุดการจัดแสดงในวันที่ 26 มิถุนายน 2565 หลังจากนี้ กรมศิลปากรจะเคลื่อนย้ายทับหลังทั้งสองรายการไปเก็บรักษาและจัดแสดงในจังหวัดที่เป็นต้นทาง ทั้งนี้จากการประชุมคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พยายามผลักดันและมีมติให้ติดตามทับหลังกลับคืนสู่จังหวัดสระแก้วเช่นกัน ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น จึงได้นำมาเก็บรักษาที่ศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรพิจารณาโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และการดูแลรักษาโบราณวัตถุให้มีความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากหน่วยงานมีความพร้อมในส่วนของสถานที่ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ และมีการควบคุมดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนตัวปราสาทเขาโล้นนี้ ได้ใส่ทับทับหลังจำลองไว้

แก้ไขเมื่อ

2022-12-08

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร