วัดราชบัลลังก์


ละติจูด 12.73538 , ลองจิจูด 101.67939

พิกัด

ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง ระยอง 21110 ตำบลทางเกวียน อำเภออำเภอแกลง จังหวัดระยอง รหัสไปรษณีย์ 21110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

        วัดราชบัลลังก์นี้ เมื่อเริ่มสร้างมีชื่อว่า “วัดเนินสระ” อาจเป็นเพราะตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ คือมีสระน้ำสำหรับชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคอยู่ชายเนิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดทะเลน้อย” ตามชื่อหมู่บ้าน เพราะบริเวณนี้กล่าวกันว่า เดิมเป็นทะเล แต่มาตื้นเขินเป็นพื้นดิน หากขุดลึกลงไปสักเล็กน้อย จะพบซากเปลือกหอยมากมายในทุกพื้นที่ ถึงหน้าฝนน้ำขังจึงใช้ทำนาได้ ในอดีตหน้าแล้ง บางปี น้ำทะเลหนุนเออขึ้นมาท่วมทุ่ง มองดูแล้วคล้ายทะเลน้อย ๆ จึงมีชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านทะเลน้อย” ปัจจุบันก็ยังกันดารน้ำจืดอยู่ ชาวบ้านต้องอาศัยเก็บน้ำฝนไว้บริโภค เพราะน้ำในบ่อที่ขุดไว้ใช้มีรสกร่อย ใช้ดื่มกินไม่ได้

          วัดนี้เป็นวัดเก่แก่สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คาดว่าคงสร้างราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น โดยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ตอนกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมและเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ ๕๐๐ คน พร้อมด้วยทหารคู่ใจ คือ พระเชียงเงิน พระพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองและเมืองแกลง ไปสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพลที่เมืองจันทบุรี เพื่อกอบกู้อิสรภาพกลับคือจากพม่า ในช่วงที่ผ่านเมืองแกลงนั้น ได้หยุดพักพลที่บริเวณวัด เนินสระนี้ เพราะหมู่บ้านนี้เป็นชุมชนใหญ่กว่าชุมชนอื่น ในสมัยนั้น วัดนี้จึงเป็นวัดสำคัญในอดีต มีเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และหรือเจ้าคณะอำเภอ ประจำอยู่ที่วัดนี้ สืบต่อกันมาหลายรูป จะเรียกว่าเป็นวัดเจ้าคณะก็คงจะไม่ผิดความจริงนัก เพราะหากช่วงใดเจ้าคณะว่างลงผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแทน จะต้องมาประจำอยู่ที่วัดนี้ จากประวัติศาสตร์ชาติไทยดังกล่าว จึงพอคำนวณได้ว่า วัดนี้สร้างมาเป็นเวลาประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ มาแล้ว

          เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีเหตุการณ์ที่น่าจะนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วย คือ มีพนักงาน ของบริษัทเนาวรัตน์ ซึ่งมาทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งอยู่ในบริเวณใกล้วัด ได้นอนหลับฝันไปว่า มีท่านผู้หนึ่งแจ้งว่า เป็นทหารซึ่งตามเสด็จพระเจ้าตากสินมาในครั้งนั้น ได้เกิดเจ็บป่วยและถึงแก่กรรม พระเจ้าตากสินได้สั่งให้ฝังศพพร้อมกับดาบประจำตัวของทหารผู้นั้นไว้ ณ บริเวณที่พักพล วัดราชบัลลังก์นี้ ขอให้ช่วยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย พนักงานของบริษัทเลี้ยงกุ้งดังกล่าว ได้มาแจ้งกับพระในวัดและญาติโยม พร้อมทั้งแจ้งสถานที่ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นที่ฝังศพตามที่ได้ฝันมา คือบริเวณใกล้ ๆ โคนต้นโพธิ์และต้นมะขามในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีการขุดค้นกันเกิดขึ้น ปรากฏว่าพบดาบเล่มหนึ่ง มีลักษณะเป็นดาบแบบโบราณ แต่ด้ามที่ทำด้วยไม้ผุกร่อนหมดแล้ว เหลือเฉพาะตัวดาบและกั่นเท่านั้น ทางวัดได้เก็บรักษาไว้

          ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้กอบกู้เอกราชและขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ให้ “เจ้าอยู่” นำ ”บัลลังก์” ที่ประทับของพระองค์มาถวายที่วัดนี้ พร้อมด้วยตู้ลายทอง ๑ ตู้ และพระพุทธรูปซึ่งสร้างด้วยโครงหวาย ฉาบปูนปิดทอง ๑ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ สำหรับบัลลังก์ที่ประทับนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมัยเมื่อมีสมณศักดิ์ ที่ พระญาณวราภรณ์ ตำแหน่งเจ้าคณะมณทลจันทบุรี มาตรวจการคณะสงฆ์และเมื่อมาถึงเมืองแกลงได้พักแรมที่วัดนี้ เพราะเป็นวัดที่เจ้าคณะแขวงประจำอยู่ ทางวัดได้นำบัลลังก์มาจัดเป็นอาสนะต้อนรับ เมื่อสอบถามได้ความว่า เป็นบัลลังก์ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จึงไม่ยอมนั่ง ต้องจัดอาสนะให้ใหม่ และปรารภว่า บัลลังก์นี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต น่าจะเก็บรักษาไว้ในที่ที่เหมาะสม และถือเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญ จึงขอไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณทสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และเขียนแจ้งไว้ว่า “ได้มาจากเมืองแกลง” ผู้สนใจอาจไปชมได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดังกล่าว ส่วนตู้ลายทอง พระพุทธรูป และตั่งรอบบาทขึ้นบัลลังก์ ยังคงอยู่ที่วัดนี้ สำหรับพระพุทธรูปนั้น ปัจจุบันชำรุดมาก ปูนที่ฉาบไว้บางส่วนกะเทาะออก ทางวัดตั้งใจว่าจะทำการบูรณะให้สมบูรณ์ดังเดิม ประกอบกับผู้ศรัทธา ถวายพระประธานในอุโบสถให้ใหม่ ทางวัดจึงนำพระพุทธรูปสานซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถเดิมมาประดิษฐานไว้ที่หอสวดมนต์  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๔ ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า  “วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม” เพื่อเชิดชูเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมาหาราช ที่เคยเสด็จมาพักพลที่วัดนี้

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2022-02-09

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร