วัดศรีศักดาราม


ละติจูด 19.7731 , ลองจิจูด 99.910367

พิกัด

47Q 0595369 UTM 2186629 ตำบลห้วยสัก อำเภออำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดศรีศักดาราม ตั้งอยู่เลขที่ 200 หมู่ 13 บ้านสันป่าเหียง ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

วัดศรีศักดาราม เดิมชื่อ “วัดห้วยสัก” เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2463 (จุลศักราช 1282/รัตนโกสินทร์ศก 139) โดยการนำของนายจุมปู บัวไข กำนันตำบลห้วยสักในขณะนั้น พร้อมทั้งนายอุ่น สุรัตน์, นายตัน โตสุวรรณ์ (บิดาของพระครูสุวรรณวรศีล หรือครูบาคำอ้าย  คนธวํโส อดีตเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าคณะตำบลห้วยสัก), นายเบอะ ดอนเลย, นายแค้น บัวไข, นายก๋อง บัวไข, นายหล้า มะโนวรรณ์, นานอ้าย ปัญญาวงศ์, นายปิง มะโนวรรณ์, นายยอด สุรินทร์ พร้อมด้วยชาวบ้านห้วยสัก ได้ร่วมกันแผ้วถางพื้นที่ป่าริมทางอันเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นที่ตั้งของวัดร้างมาตั้งแต่อดีต

ต่อมาเมื่อได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดห้วยสัก เป็น “วัดศรีดอนมูล” ในปี พ.ศ. 2468 (จุลศักราช 1287/รัตนโกสิทร์ 114) โดยขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมเป็น 9 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ในปี พ.ศ. 2486 พระครูสุวรรณวรศีล (ครูบาคำอ้าย คนฺธวํโส) เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูลและเจ้าคณะตำบลห้วยสักในขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าชื่อวัดซ้ำกับวัดอื่นหลายแห่ง และไม่สอดคล้องกับชุมชนที่วัดตั้งอยู่ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดศรีดอนมูล” มาเป็น “วัดศรีศักดาราม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

วัดศรีศักดารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2489 และได้ทำพิธีผูกพันธสีมา
ฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2491 เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรม และประกอบศาสนกิจมาอย่างต่อเนื่องปัจจุบันได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นในระดับประเทศ

ปูชนียวัตถุอันล้ำค่า ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมี "ค่าควรเมือง" ของวัดก็คือ พระพุทธศรีศักดาประชานาถ พระประธานประจำวิหารหลวงของวัดศรีศักดาราม ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 เป็นพระปูนปั้นฝีมือช่างพื้นบ้านล้านนา ปัจจุบันได้รับการปิดทององค์พระอย่างงดงาม และปูชนียวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์สาม ซึ่งมีอายุราว 700 ปี ประดิษฐานไว้ใน “พิพิธภัณฑ์ค่าควรเมือง” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ปรับเอากุฏิสงฆ์ (โฮงหลวง) สถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ต่อมาประยุกต์เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และวิถีชีวิตของชุมชนชาวห้วยสัก และคนล้านนา นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ วัดศรีศักดารามยังมีของชิ้นเอกแห่งเมืองเชียงรายอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ   "เสาตุงเอกแห่งเมืองเชียงราย" สร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 750 ปี แห่งการสถาปนาเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ. 2555 มีขนาดความสูง 15 เมตร รอบโคนเสา 2.40 เมตร (ขนาด 2 คนโอบ) สร้างขึ้นจากไม้แกทราย ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง อายุประมาณ 200 กว่าปี โดยคณะสงฆ์และคณะศรัทธาวัดศรีศักดารามได้อัญเชิญมาจากบ้านศรีเวียง อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555

โดยมีตุงเงินที่ได้รับการสลักอย่างงดงามวิจิตรบรรจงจากศิลปินเอกแห่งล้านนา จำนวน 4 ชิ้น ประดับไว้บนเสาตุงเอก ได้แก่

1) ตุงชัยมงคล : เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ในโอกาสฉลอง “พุทธชยันตี”
แห่งปีมหามงคล)

2) ตุงชัยพญามังราย : เป็นสัญลักษณ์แห่งการฉลองชัยเมืองเชียงรายครบ 750 ปีแห่งการสถาปนา

3) ตุงชัยสิบสองปีนักษัตร : เป็นสัญลักษณ์ของนักษัตรประจำปีเกิด

4) ตุงชัยเจดีย์ประจำปีเกิด : เป็นสัญลักษณ์ของพระเจดีย์ประจำปีเกิดทั้งสิบสองนักษัตร

บริเวณด้านหน้าของวัดยังมีวิหารทรงล้านนา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พรหมรังสี) ขนาดใหญ่ไว้ให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้ไปเคารพสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต

วัดศรีศักดารามมี "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" ซึ่งเป็นหน่อเนื้อที่เพาะเมล็ดจากต้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ประดิษฐานอยู่ด้านหลังอุโบสถ และบริเวณเดียวกันนั้นยังมี "หลองข้าว" แบบโบราณล้านนา ซึ่งงดงามตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันหลองข้าวหลังนี้ยังใช้เป็นธนาคารข้าว เก็บรักษาข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมารวบรวมกันไว้ที่วัด เพื่อช่วยเหลือและบริการผู้คนในชุมชน ซึ่งสามารถมาเยี่ยมชม และศึกษาเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดศรีศักดารามได้ทุกวัน

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ พระธาตุศรีศักดาสตวัสสานุสรณ์ (พระธาตุคู่แท้) วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ศาลาพระพุทธรูป พิพิธภัณฑ์ค่าควรเมือง อาคารแม่นิ ตินิกุล (อนุสรณ์ 100 ปี)

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธศรีศักดาประชานาถ  พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์สาม) เสาตุงเอกแห่งเมืองเชียงราย รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปปั้นเหมือนพระครูสุวรรณวรศีล (ครูบาคำอ้าย คนฺธวํโส)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2022-08-02

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร