วัดกาสา


ละติจูด 20.150377 , ลองจิจูด 99.856459

พิกัด

47Q 589507 UTM 2228353 ตำบลแม่จัน อำเภออำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57110

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดกาสา ตั้งอยู่เลขที่ 73 บ้านแม่จัน หมู่ที่ 3 ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือจดที่เอกชน ทิศใต้จดถนนลาวจกราช ทิศตะวันออกจดถนนลาวจกราช ทิศตะวันตกจดถนนสิงหนวัติ ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 2 แปลง มีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาพระนอนเฉลิมพระเกียรติครบ 5 รอบ รัชกาลที่ 9 โรงครัว ศาลาอเนกประสงค์และศาลาบำเพ็ญกุศล ปูชียวัตถุมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง 6 องค์ พระพุทธรูปอีก 1 องค์ ปรางค์ 1 องค์ และเจดีย์ 1 องค์

ในปี พ.ศ.2424 ได้มีท่านพระครูบาสัทธาภิรัตน์ (อิ่นแก้ว) ซึ่งเป็นพระมาจากบ้านแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ ได้พาคณะศรัทธาญาติโยมอพยพขึ้นมาเมืองเก่าช้างแสน (ช้างร้อง) โดยผ่านมาทางเมืองฝาง (ตอนนั้นเมืองฝางขึ้นกับเมืองเชียงราย) มาถึงที่ราบต่ำอันกว้างขวางเรียกว่า หมู่บ้านดอยจระเข้ (อำเภอแม่จันในปัจจุบัน)
จึงได้กันลงหลักปักฐานอยู่ในบริเวณเหล่านี้ ส่วนท่านครูบาอิ่นแก้ว (ครูบาสัทธาภิรัตน์) ก็ได้ให้คณะศรัทธาญาติโยมที่มาด้วยกัน แผ้วถางพื้นที่อันเป็นชัยภูมิเป็นเนินสูง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงหวาย อันเป็นเวียงร้างที่เก่าแก่ และเป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าวัวต่างใต้ต้นหมากซัก ท่านพระครูบาเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เรียกว่า “ดอนหมากซัก” อันเป็นที่ราบสูงและติดกับแม่น้ำจัน จึงตกลงตั้งสำนักสงฆ์ลงบนพื้นที่แห่งนี้ และมีชื่อว่า “สำนักสงฆ์ดอนหมากซัก” ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ท่านครูบาศรีวิชัยเจ้านักบุญแห่งล้านนาในสมัยนั้นได้บอกแก่คณะศรัทธาญาติโยมที่ติดตามท่านในคราวโปรดเมตตาคณะศรัทธาชาวเมืองเชียงแสนว่า สำนักสงฆ์ดอนหมากซักแห่งนี้ ถ้าหากจัดตั้งหื้อเป็นวัดต่อไปภายหน้าจะไม่มีความเจริญ จักมีแต่เรื่องราวถ้อยคำซักฟอกกันไม่จัดสุดสิ้น ให้ย้ายเสียจักดี

เมื่อท่านพระครูบาอิ่นแก้ว ได้ทราบเช่นนี้แล้ว ก็ได้ย้ายสำนักดอนหมากซักเข้ามาอยู่ที่ปางชุมชนพ่อค้าวัวต่างอีกแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ชุมนุมแห่งไม้ฉำฉา และบรรดานกคาทั้งหลาย และได้ตั้งชื่อสำนักสงฆ์แห่งใหม่นี้ว่า “สำนักสงฆ์พญาก๋าต๋อม” ต่อมาเจ้าหลวงเมืองเชียงแสนบอกให้ท่านครูบาว่าควรตั้งชื่อว่า “วัดกาสา” เพราะเหตุว่าท่านครูบาได้มาจากบ้านแม่สา และสถานที่แห่งนี้เป็นดงไม้ฉำฉา  ประกอบกับเป็นที่ชุมชนแห่งนกกา นกกก นกแก๋ง ทั้งหลาย ท่านครูบาก็เลยตั้งชื่อเสียใหม่ว่า สำนักสงฆ์ “กาสา” และต่อมาก็ได้ยกเป็นวัด ชื่อว่าวัด “กาสา” มาตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านครูบาเจ้าได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 23 เดือน เมษายน พ.ศ. 2480 เดือน 6 ใต้ เดือน 8 เหนือ ขึ้น 13 ค่ำ วันศุกร์ ปีฉลู (ปีวัว) ร.ศ. 156 จ.ศ. 1299 ค.ศ.1937

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2022-07-22

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร