ละติจูด 15.231739 , ลองจิจูด 104.861946
พิกัด
เลขที่ 139 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34000
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
ธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ทั้งสองหลังของวัดมณีวนารามสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง ประกอบด้วยส่วนขาสิงห์ ส่วนฐานบัว ส่วนพื้นและพนักหลังและด้านข้าง ลายที่ประดับบนธรรมาสน์เป็นลายแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก บางส่วนทาสีชาด ธรรมาสน์หลังหนึ่งถูกทาสีทองทับ ซึ่งแต่เดิมคงจะลงรักปิดทองคล้ายกัน ลายที่ปรากฏได้แก่ ลายประจำยามใบเทศ ลายประจำยามก้ามปู ลายเครือเถาดอกกาละกับ ลายเครือเถาก้านขด ลายกระจัง ลายไข่ปลา
เอกลักษณ์โดดเด่นของธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์สองหลังนี้ เป็นธรรมาสน์ตั่งแบบไทยภาคกลาง ตัวตั่งมีแนวยาวไปด้านหลังไม่เหมือนธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ที่พบทั่วไปในอำเภอเมืองอุบลราชธานี ระหว่างช่วงของพนักด้านข้างกับด้านหลังมีเสาบัวเป็นส่วนประกอบ รวมถึงการแกะสลักการวางลวดลายแบบไทยภาคกลาง มีส่วนที่ผสมผสานศิลปะพื้นถิ่นเข้าไปคือลายเครือเถาดอกกาละกับ ส่วนขาตั่งธรรมาสน์ทั้งสองหลังชำรุดหักหายไป และได้มีการซ่อมใหม่แล้วโดยนายณัฐพงค์ มั่นคง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ ธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์หลังที่ ๑ มีสภาพเดิมไม่ถูกทาสีทับ มีขนาดความสูง ๕๔ เซนติเมตร กว้าง ๗๘ เซนติเมตร ยาว ๑๐๓ เซนติเมตร พนักพิงสูง ๒๑ เซนติเมตร กว้าง ๖๖ เซนติเมตร และ หลังที่ ๒ ซึ่งถูกทาสีทับมีขนาดความสูง ๕๙ เซนติเมตร ยาว ๑๐๑ เซนติเมตร กว้าง ๗๒.๕ เซนติเมตร พนักพิงสูง ๒๑ เซนติเมตร กว้าง ๖๕.๕ เซนติเมตร
ธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ วัดมณีวนารามทั้งสองหลัง เคยใช้ในการสวดพระปาติโมกข์มาแต่เดิม มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายเก่า ตั้งประจำในสิมหลังเดิมที่รื้อถอนไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนา และใช้เป็นเสลี่ยงแห่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวาระต่าง ๆ ดังนี้
- วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ แห่พระศรีธรรมโศภณ (ปรีชา ปริญฺญาโณ พิณทอง ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดกลาง ในพิธีต้อนรับพัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญของพระคุณท่าน
- วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิติศักดิ์ กิตฺติวุฑฺโฒ เจริญสถาพร น.ธ.เอก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ราชวรมหาวิหาร นั่งธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ของวัดมณีวนาราม แสดงพระธรรมเทศนาในงานบำเพ็ญกุศลพิเศษ พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผลเถร) ณ ศาลาการเปรียญ วัดมณีวนาราม
- วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระธรรมสิริชัย (บุญเลิศ โฆสโก ปรักกมสิทธิ์ น.ธ.เอก) รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร นั่งธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ของวัดมณีวนาราม แสดงพระธรรมเทศนาในงานบำเพ็ญกุศล ๑๐๐ วันศพพระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผลเถร) ณ ศาลาการเปรียญ วัดมณีวนาราม
นอกจากนี้ธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ของวัดมณีวนารามเป็นรูปแบบที่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างธรรมาสน์เสลี่ยงของวัดอื่น ๆ ในปัจจุบันด้วย เช่น ธรรมาสน์เสลี่ยงของพระครูสิริธรรมโกวิท (สายทอง สิริธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดดอนเกลือ เจ้าคณะอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ดก็สร้างขึ้นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน (ณัฐพงค์ มั่นคง, สัมภาษณ์)
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
ธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ทั้ง ๒ หลังของวัดมณีวนารามมีการนำมาใช้งานในพิธีต่าง ๆ เสมอมา ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บรักษาไว้ในกุฏิพระอริยวงศาจารย์ (กุฏิแดง) รวมกับโบราณวัตถุศิลปวัตถุต่าง ๆ ของวัดในสภาพที่ ขาธรรมาสน์ทั้งสองหลังชำรุดเสียหาย
ใน พ.ศ. ๒๕๕๗ วัดมณีวนารามได้บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิพระอริยวงศาจารย์ ในความควบคุมของสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี เมื่อแล้วเสร็จพระภัภชรพงศ์ ปภสฺสโร (บัวเงิน) (ปัจจุบันลาสิกขาเป็น นายพสิษฐ์ บัวเงิน เจ้าหน้าที่กลุ่มอำนวยการพิธีศพที่ได้รับพระราชทานที่ ๑๒ อุบลราชธานี) จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุต่าง ๆ มาแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบ รวมทั้งธรรมาสน์ ๒ หลังนี้ด้วย เมื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามใน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงได้ย้ายธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ทั้ง ๒ หลังมาจัดแสดงที่กุฏิใหญ่ และได้รับการซ่อมแซมขาธรรมาสน์ที่ชำรุด โดยนายณัฐพงค์ มั่นคง
ปัจจุบันธรรมาสน์ตั่งขาสิงห์ของวัดมณีวนารามจัดแสดงในห้องศาสนศิลป์หรือห้องตะวันออกของกุฏิใหญ่ พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประจำชุมชนคุ้มวัดป่าน้อย เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยประสานงานที่พระปกรณ์ ชินวโร (ปุกหุต) เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘-๐๔๗๙-๑๒๑๙ และนายณัฐพงค์ มั่นคง เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘-๙๙๖๖-๔๕๓๖
แก้ไขเมื่อ
2022-09-30
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|