เมืองโบราณสกลนคร


ละติจูด 17.164493 , ลองจิจูด 104.15284

พิกัด

ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภออำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมืองโบราณสกลนคร เป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมตามแบบอารยธรรมเขมร ตั้งอยู่ที่ราบริมฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหนองหาน แนวคูคันดินรอบเมืองมีขนาด 1,350 x 1,500 เมตร คลอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 3.17 ตารางกิโลเมตร (1,980 ไร่)  โดยการวางผังเมืองนลักษณะนี้เป็นหนึ่งในสองแห่งที่พบในบริเวณแอ่งสกลนคร คือ เมืองโบราณหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณสกลนครอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร         นอกจากนี้เมืองโบราณสกลนครยังปรากฏการสร้างศาสนสถานสำหรับเมือง คือ ปราสาทหินในองค์พระธาตุเชิงชุม พบหลักฐานสำคัญคือ “จารึกวัดพระธาตุเชิงชุม” ปรากฏบนกรอบประตูหินทรายทางเข้าภายในเรือนธาตุหรือครรภคฤหทางด้านทิศตะวันออก เนื้อหาโดยสังเขปกล่าวถึงการแบ่งเขตการปกครองที่ดินแก่หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน รวมไปถึงการอุทิศกัลปนา คน สัตว์ พืชผล ที่ดิน ให้กับเทวสถาน ปรากฏชื่อหมู่บ้านสำคัญ คือ “ชระเลง” และ “พนุรพิเนาว์” โดยจากการพิจารณาองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์และความเหมาะสมหลายประการ จึงมีความเป็นไปได้ว่า บ้านชระเลง ตั้งอยู่ภายในบริเวณเขตคูเมืองโบราณสกลนคร ส่วนบ้านพนุรพิเนาว์ เป็นชุมชนตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในบริเวณที่ตั้งของพระธาตุนารายณ์เจงเวง นอกจากนี้ยังปรากฏตำแหน่งของบุคคลคือ “กำเสตง”  และ “โขลญพล”  นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึง การปกครอง ระบบความเชื่อ โดยหอสมุดแห่งชาติ กำหนดอายุจากตัวอักษรที่มีในจารึกอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17  นอกจากศาสนสถานประจำเมืองแล้ว ยังประกอบไปด้วย บางราย (ตระพังทองหรือสระพังทอง) แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในตัวเมือง อีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏศาสนสถาน คือ ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทดุม และระบบสาธารณูปการ คือ สะพานขอม บางรายประจำ ชุมชน (สระน้ำ) รวมไปถึงแนวถนนโบราณออกไปยังภายนอกตัวเมือง ปัจจุบันสภาพของคูน้ำ คันดินเมืองโบราณสกลนครพอเหลือสภาพให้เห็นเพียงแนวคูคันดินชั้นนอก ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่พุ่งลงสู่หนองหานเท่านั้น ทั้งนี้ การสร้างคูน้ำคันดิน นอกจากจะมีประโยชน์ ในการใช้ป้องกันเมืองแล้วยังสันนิษฐานว่า ใช้เพื่อป้องกันน้ำที่ไหล จากเทือกเขาภูพานโดยใช้คูน้ำและคันดินเบนกระแสน้ำให้ไหลลงสู่หนองหาน       

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สภาพทั่วไปของร่องรอยคูน้ำคันดินโบราณ ถูกทำลายลงจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ จนเสื่อมสภาพ  ปรากฏร่องรอยบางส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองสกลนคร บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนัครินทราบรมราชชนนี (สวนแม่) และสวนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา (สวนลูก) หรือที่ชาวเมืองสกลนครเรียกว่า “คูสุด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคูคันดินชั้นนอกเมืองโบราณสกลนคร

แก้ไขเมื่อ

2022-10-12

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร