ชุมชนโบราณบ้านพันนา


ละติจูด 17.43858 , ลองจิจูด 103.560715

พิกัด

ตำบลพันนา อำเภออำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47240

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ชุมชนโบราณ เมืองโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

ชุมชนโบราณบ้านพันนา มีลักษณะเป็นพื้นที่เนินล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความเก่าแก่ถึงสมัยวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมบ้าน ดังมีการค้นพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบและลายเขียนสีแดงลักษณะต่างๆ และพบว่าทับซ้อนหลายสมัย อีกทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดและเหล็ก รวมไปถึงลูกปัดแก้ว แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงเข้าสู่พื้นที่แถบนี้เมื่อประมาณ 2,300 – 1,800 ปีมาแล้ว การเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณบ้านพันนา ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 เริ่มมีการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแบบหินยาน ดังหลักฐานสำคัญ ประกอบด้วย ใบเสมาหินทรายที่มีลวดลายเฉพาะแบบวัฒนธรรมทวารวดี ในบริเวณภาคอีสานเท่านั้น คือ ลายสันสถูปและหม้อน้ำปูรณฆฏะนอก จากนี้ยังพบประติมากรรมประเภทพระพุทธรูปหินทราย จนในพุทธศตวรรษที่ 16 อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรได้แผ่อิทธิพลขึ้นมาคลอบคลุมถึงบริเวณที่ราบลุ่มหนองหาน ปรากฏหลักฐานคือ ปราสาทหินบ้านพันนาที่เชื่อกันว่าเป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาล ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พุทธศักราช 1724 - 1761) ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 19 อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมคลายอำนาจลงและสูญสิ้นไปจนเข้าสู่สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ในราวพุทธศตวรรษที่ 20– 22 ปรากฏร่องรอยการเข้ามาคนกลุ่มแรกที่คาดว่าเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งมาจากฝั่งประเทศลาว โดยพระวอ พระตา และเหล่าทหารที่เดินทางรอนแรมมาเพื่อหาแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ พอมาถึงบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พระวอ พระตาจึงตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้นส่วนทหารที่ตามขบวนมา นำโดยนายพรานนา ได้แยกตัวมาทางทิศตะวันออกและพบแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหารแหล่งน้ำและป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านผ้าขาวพันนา ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านพันนานั้น เปรียบได้ดังนี้ “บ้านผ้าขาวพันนา หัวปลาเฮ็ดก้อนเส้า ข้าวเก่าเอาใส่หม่อน” หมายถึง ในน้ำมีปลาชุกชุม ปลามีตัวขนาดใหญ่จนสามารถนำหัวปลาที่เหลือกินแล้วมาทำเป็นที่ตั้งหม้อ (ก้อนเส้า) ข้าวในนาก็อุดมสมบูรณ์ ในยุ้งฉางมีข้าวเก็บไว้รับประทานอย่างล้นเหลือ จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ ข้าวเก่าในปีที่ผ่านมายังรับประทานไม่หมดจึงนำไปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวหม่อน เพื่อนำเส้นใยไปถักทอเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ปัจจุบันบ้านพันนาได้แยกการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านพันนา หมู่ที่ 1 บ้านพันนาใต้ หมู่ที่ 10 และบ้านพันนานคร หมู่ที่ 12  (ที่มา : https://www.iotopsakon.com)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สภาพทั่วไปทั่วไปของชุมชนโบราณบ้านพันนา มีการตั้งบ้านเรือนทับซ้อนลงบนแหล่งชุมชนโบราณ โดยรอบเป็นพื้นที่ราบลุ่มใช้ในการกสิกรรมเป็นหลัก

แก้ไขเมื่อ

2022-10-12

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร