ละติจูด 19.577567 , ลองจิจูด 99.718267
พิกัด
47Q 0575343 UTM 2164890 ตำบลสันกลาง อำเภออำเภอพาน จังหวัดเชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57120
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
วัดเชียงหมั้น ตั้งอยู่เลขที่ 112 หมู่ 7 บ้านสันผักฮี้ ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 ตารางวา
ตามประวัติกล่าวว่า ในหมู่บ้านมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ชื่อต้นผักฮี้ อยู่ใจกลางหมู่บ้านลักษณะเป็นสันดอน จึงเรียกกันว่า “บ้านสันผักฮี้” และได้มีครอบครัวของนางฟอง ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดแพร่และครอบครัวของเจ้าหนานสุริยา ประสงค์ทรัพย์ ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่มี 21 หลังคาเรือน และได้ปรึกษาหารือกันที่จะสร้างวัด จึงเริ่มสร้างวัดในปี พ.ศ. 2424 โดยสร้างติดชลประทานแต่เนื่องด้วยพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย จึงได้ย้ายมาสร้างที่บริเวณสามแยกใจกลางหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมามีพระรูปหนึ่งมาพักที่อารามใหม่ อยากจะสร้างวัดแต่สร้างไม่ได้เนื่องจากเป็นทางสามแพร่ง พระรูปนั้นจึงได้ชวนคณะศรัทธาชาวบ้านไปหาทำเลที่ใหม่ ในปี พ.ศ. 2440 และตั้งชื่อว่า “วัดสันผักฮี้” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเชียงหมั้น” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2478 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 9.50 เมตร ยาว 14 เมตร
ซุ้มประตูด้านทิศเหนือของวัดเชียงหมั้น นับเป็นงานศิลปะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น แปลกตา บ่งบอกถึงยุคสมัยที่แตกต่างไปจากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ภายในวัด โดยซุ้มประตูดังกล่าวถูกสร้างเป็นช่องเปิดเชื่อมต่อกับกำแพงวัดด้านทิศเหนือ กั้นระหว่างพื้นที่บริเวณวัดกับพื้นที่หมู่บ้าน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน กว้างประมาณ 60 ซม ด้านบนก่อเป็นซุ้มโค้ง (Arch) ทำหน้าที่เป็นคานถ่ายเทน้ำหนักลงสู่เสาที่เชื่อมต่อกับกำแพงทั้งสองข้าง ส่วนยอดของซุ้มก่อเป็นยอดแหลมชลูดสูง ในผังสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไป 3 ชั้น รูปทรงดังกล่าวคล้ายกับหลังคาทรงปราสาทซ้อนชั้นของสถาปัตยกรรมประเภทวิหาร หรือที่ประทับของกษัตริย์แบบพม่า ที่เรียกว่า “ปยาทาด (Pyathat)” ซึ่งนิยมสร้างในศิลปะพม่ายุคหลัง สมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ และส่วนใหญ่ในพม่าจะสร้างเป็นเครื่องไม้ แต่ยุคนี้กลับมีความนิยมสร้างอาคารประเภทดังกล่าวด้วยวิธีการก่ออิฐถือปูน ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลการสร้างตึกจากตะวันตก และส่งผ่านเข้าสู่ดินแดนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25
ลักษณะทางศิลปกรรม พบว่าบริเวณส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนชั้น ช่างได้ลดทอนน้ำหนักของเครื่องก่ออิฐในแต่ละชั้น ด้วยการประดับลวดลายปูนปั้นเป็นวงโค้งสองวงเชื่อมกันสองเส้นสลับบน-ล่าง คั่นด้วยลวดบัว ส่วนบริเวณซุ้มโค้งทั้งสองด้านนั้น พบว่ามีการประดับตกแต่งด้วยงานปูนปั้นที่แตกต่างกัน บริเวณด้านนอกทำเป็นวงโค้งสองชั้น พื้นที่ตรงกลางประดับด้วยปูนปั้นเป็นวงโค้งขนาดเล็ก ซ้อนชั้นเชื่อมต่อกันจนเต็มพื้นที่คล้ายกับเกล็ดนาค เหนือขึ้นไปประดับด้วยลวดลายปูนปั้น เช่นเดียวกับบริเวณซุ้มโค้งด้านใน เป็นลักษณะของลวดลายพรรณพฤกษาในศิลปะแบบตะวันตก เช่น ลายใบอะแคนตัส อันเป็นความนิยมในศิลปะพม่าสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์
บริบททางประวัติศาสตร์และการกำหนดอายุ เหนือซุ้มโค้งด้านใน ช่างได้ออกแบบปูนปั้นเป็นลักษณะตัวอักษรผสมตัวเลขไทย เป็นลวดลายกลมกลืนกับลายใบอะแคนตัสด้านล่าง ระบุว่า “ พ ศ 2476” ซึ่งสันนิฐานได้ว่าเป็นปีที่สร้างซุ้มประตูนี้ขึ้นมา การปรากฏรูปแบบงานศิลปะสถาปัตยกรรมแบบพม่าในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลพวงมาจากบริบททางประวัติศาสตร์ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ลิง และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2369 เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามาสัมปทานป่าไม้ในล้านนา ทำให้มีชาวพม่าและชาวไทใหญ่ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษ เข้ามาค้าขายและสัมปทานป่าไม้อยู่ตามเมืองต่างๆทั่วล้านนา เมื่อประสพความสำเร็จทางการค้าประกอบกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างและบูรณะวัดวาอารมขึ้นหลายแห่ง โดยใช้ช่างฝีมือที่มาจากพม่าโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีศาสนสถานศิลปะแบบพม่าสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นความนิยมแห่งยุคสมัย ปรากฏทั่วในเมืองสำคัญๆ ของล้านนา ในกรณีของเมืองพานนั้น พบว่ามีชาวพม่าและชาวไทใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานนานแล้ว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย และเป็นช่างฝีมือ รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนใหญ่อยู่บริเวณหลังตลาดเมืองพาน เช่น ชุมชนม่วงชุม และชุมชนเทพวัลย์ ผู้ที่มีบทบาทเป็นสล่า หรือช่างฝีมือชั้นครูชาวพม่าในเมืองพานช่วงเวลาดังกล่าว คือ อู (พ่อเฒ่า) โพมิน ต้นตระกูลพรหมมินทร์ ศาสนสถานที่มีรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมแบบพม่าในเมืองพาน หลายแห่งล้วนเป็นฝีมือของพ่อเฒ่าโพมิน รวมไปถึงพระธาตุจอมแว่ ซึ่งถูกบูรณะขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ปรากฏให้เห็นซุ้มกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ ซึ่งมีรูปแบบทางศิลปกรรมที่คล้ายคลึงกับชุ้มประตูวัดเชียงหมั่นเป็นอย่างมาก ด้วยบริบทดังกล่าวจึงอาจสันนิฐานได้ว่า ช่างที่สร้างซุ้มประตูวัดเชียงหมั่น อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือช่างชุดเดียวกันที่บูรณะวัดพระธาตุจอมแว่ก็เป็นได้
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย วิหาร อุโบสถ เจดีย์ หอพระไตรปิฏก ศาลาการเปรียญ ศาลาบาตร หอระฆัง กุฏิ
ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 6 องค์
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
-
แก้ไขเมื่อ
2023-05-19
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|