บ้านเสายองหิน ชุมชนโบราณบ้านภูผักไซ่


ละติจูด 16.977851 , ลองจิจูด 101.2201201

พิกัด

บ้านภูผักไซ่ ตำบลหินฮาว อำเภออำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ รหัสไปรษณีย์ 67120

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

ย่านชุมชนเก่า

ความสำคัญ/ลักษณะ

        ความเป็นมาของพื้นที่ศึกษา

        ชุมชนภูผักไซ่ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่บนบริเวณรอยต่อกับจังหวัดเลย ซึ่งมีดินแดนติดกับประเทศลาว ก่อตั้งมาประมาณ ๒๐๐ ปี โดยมีนายทองสา เป็นหัวหน้าพาผู้คนประมาณ ๒๐ คน อพยพจากเมืองหลวงพระบาง เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าว แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ภูผักไซ่” ซึ่งได้มาจากบริเวณนั้นมีผักไซ่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน สภาพภูมิประเทศของชุมชนเป็นที่ราบลุ่มเนินเขา มีลำคลองไหลผ่าน ลักษณะชุมชนเป็นสังคมชนบท เป็นชุมชนขนาดเล็กทำให้วิถีการใช้ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน ส่งผลให้สภาพสังคม วัฒนธรรม และรูปแบบสถาปัตยกรรมยังคงรูปแบบเดิม ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ (ส่งศักดิ์  อ่อนสุวรรณ์, ๒๕๖๒)

        สภาพพื้นที่โดยรอบ

        บ้านภูผักไซ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่โดยรอบของชุมชนเป็นภูเขา อาชีพหลักของคนในชุมชน ทำการเกษตร ทำนาปลูกข้าว ทำไร่ข้าวโพด และทำสวนมะขาม เมื่อว่างเว้นจากฤดูทำไร่ทำสวน ชาวภูผักไซ่จะรวมกลุ่มกันปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้าโดยใช้กี่พื้นบ้าน ผ้าทอที่ได้ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูผักไซ่ ซึ่งจะมีลวดลายเฉพาะของพื้นที่ อาทิ ลายหอปราสาท ลายนาค ลายกระจับ และลายดอกผักแว่น เป็นต้น

นอกจากนี้ บ้านภูผักไซ่ยังเป็นชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง โดยจะนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ เอกลักษณ์ที่เด่นชัด จะอยู่ที่เสาบ้านเป็นไม้เนื้อแข็งตั้งอยู่บนหินจะไม่ได้สัมผัสกับพื้นดินโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “บ้านเสายองหิน” หินที่นำมาใช้ก็เป็นหินจากลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ภูมิปัญญาในการก่อสร้างบ้านเสายองหินนั้นเพื่อป้องกันแรงลม และแผ่นดินไหว เพราะการตั้งเสาบนหินนั้นจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นของตัวเสากับฐานหิน ช่วยป้องกันความชื้นและปลวกเพราะเสาบ้านไม่ได้สัมผัสดินโดยตรง แต่ปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนของชุมชนมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง บ้านบางส่วนที่ยังคงเหลือให้เห็นก็อาจไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีการบูรณะ ซ่อมแซมตามอายุการใช้งาน จึงส่งผลให้ปัจจัยการใช้งานและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป องค์ประกอบและรายละเอียดบางอย่างที่ไม่จำเป็นจึงถูกละทิ้งไป

 องค์ประกอบสำคัญของแหล่งมรดก

๑. เรือนพื้นถิ่น ชุมชนบ้านภูผักไซ่

     เรือนที่มีลักษณะความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนิยมสร้างด้วยไม้ ยกใต้ถุนสูง ตัวบ้านตีปิดด้วยฝาไม้ บางส่วนเป็นระแนงไม้เพื่อระบายอากาศ โครงสร้างจะเข้าไม้แบบตอกเข้าลิ่ม สลักไม้สอดเข้าลิ่ม จะไม่ใช้ตะปู หลังคาบ้านสร้างจากไม้ทรงจั่ว เอกลักษณ์ที่ชัดเจน คือ เสาบ้านที่สร้างจากไม้เนื้อแข็งตั้งอยู่บนหิน ซึ่งจะไม่สัมผัสกับพื้นดินโดยตรง เรียกว่า “บ้านเสายองหิน” หินที่นำมาใช้ได้มาจากลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า หากวางเสาไว้บนหินจะช่วยป้องกันแรงลม แผ่นดินไหว เพราะฐานหินกับตัวเสาที่สัมผัสกันจะเกิดความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันความชื้นและปลวก เพราะเสาบ้านไม่ได้สัมผัสกับพื้นดินโดยตรง (ส่งศักดิ์  อ่อนสุวรรณ์, ๒๕๖๒)

. ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหินฮาว

     ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลหินฮาว เป็นที่ตั้งของกลุ่มทอผ้าบ้านภูผักไซ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนไทหล่มถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ในอดีตเมื่อว่างเว้นจากการทำสวนไร่นา พวกผู้หญิงจะปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้าโดยใช้กี่พื้นบ้าน คนไทหล่มนิยมทอผ้าเพื่อใช้ภายในครอบครัว และในพิธีกรรมต่างๆ

      ผ้าทอซิ่นไหมหมี่คั่น หรือผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ มีกรรมวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคการมัดและการย้อมเริ่มจากนำเส้นด้ายหรือ ไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ต้องการเก็บไว้เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติด โดยย้อมเรียงจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นนำด้ายเข้าหลอด แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่ลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซิ่นหมี่ ซิ่นหมี่คั่นโบราณ ๑ ผืนประกอบด้วย ตัวซิ่น หัวซิ่น และตีนซิ่น

       

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

          ด้วยความตระหนักในความเสื่อมโทรมของแหล่งสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน ชุมชนวัฒนธรรมไทหล่ม จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้แหล่งศิลปกรรมได้รับผลกระทบ ยากต่อการป้องกันและแก้ไข หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญและคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรจัดทำข้อมูลแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ ณ ชุมชนบ้านภูผักไซ่ ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีการสำรวจและรวบรวมแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ที่มีความโดดเด่น และมีความสำคัญในระดับท้องถิ่นขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในท้องถิ่นได้ตระหนักและเห็นคุณค่า ความสำคัญของแหล่งชุมชนโบราณ ประกาศเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม มีแผนการจัดการ และมาตรการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมที่เหมาะสม

แก้ไขเมื่อ

2024-10-29

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร