ละติจูด 15.4386134 , ลองจิจูด 101.1632445
พิกัด
บ้านนาตะกรุด ตำบลศรีเทพ อำเภออำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ รหัสไปรษณีย์ 67170
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
ย่านชุมชนเก่า
ความสำคัญ/ลักษณะ
ประวัติความเป็นมา
ชุมชนบ้านนาตะกรุด เป็นชุมชนที่เกี่ยวกับความทรงจำ เนื่องจากในอดีตสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จตรวจราชการหัวเมือง และทรงเดินทางมามณฑลเพชรบูรณ์ ด้วยเรือทางลำน้ำป่าสัก จากเอกสารเรื่อง “เที่ยวที่ต่างๆ ภาค ๓ เรื่องเที่ยวเมืองเพชรบูรณ์” บันทึกโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า
“...เที่ยวเมืองเพ็ชรบูรณ์ที่พิมพ์ในเล่มนื้ ข้าพเจ้าแต่งไว้ครั้งไปตรวจราชการมณฑลเพ็ชรบูรณ์เมื่อ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ ตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ ...มีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งอยู่ใต้เมืองวิเชียรบุรีลงมาข้างฝั่งตะวันออกเหมือนกัน เมืองนี้เรียกว่าเมืองศรีเทพชื่อหนึ่ง อีกชื่อหนึ่งเรียกตามคำธุดงค์ว่า “เมืองอภัยสาลี” อยู่ห่างลำน้ำสักขึ้นไปประมาณ ๑๕๐ เส้น แลอยู่ที่ป่าแดง จะไปดูได้ไม่ยากนัก เมื่อจะล่องจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ ข้าพเจ้าจึงได้สั่งให้เอาม้าเดินมาคอยรับที่ท่านาตะกรุดอันเป็นที่จะขึ้นไปสู่เมืองศรีเทพ...” จากเอกสารดังกล่าวทำให้ทราบว่า บ้านนาตะกรุดเริ่มมีมาก่อน พ.ศ. ๒๔๔๗ นับถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๔ อายุหมู่บ้านมากกว่า ๑๑๗ ปี
บ้านนาตะกรุด เดิมขึ้นอยู่กับตำบลนาตะกรุด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลศรีเทพ โดยเอาชื่อเมืองเก่ามาตั้งเป็นหมู่บ้านก่อนที่จะเกิดเป็นบ้านนาตะกรุด ได้มีการย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านใหญ่ เดิมคือบ้านศรีเทพน้อยในปัจจุบัน ชาวบ้านได้อพยพเดินทางลัดเลาะมาตามลำคลองบ้านและลำคลองห้วยยาง เนื่องจากเกิดโรคระบาด โรคห่า อหิวาตกโรค จึงมีชาวบ้านบางกลุ่มหนีโรคไปตามป่าเขาเพื่อตั้งรกราก เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณท้ายลำคลองห้วยยางซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน จึงตกลงกันตั้งหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ตามคำบอกเล่าของปู่เสมอ โตมะนิตย์ เล่าว่า “ตอนที่อพยพมาที่บ้านนาตะกรุดนั้นได้มากันหลายครอบครัว คือ ครอบครัวปู่หมอก ตะกรุดเงิน ครอบครัวปู่เทา ไพรสิงห์ ครอบครัวปู่แฉ่ง จันทร์หอม ครอบครัวปู่เนียม งามเลิศ ครอบครัวปู่ยอด ตะกรุดเพ็ง และครอบครัวย่าก้าน” เริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่สองฝั่งฟากลำคลองห้วยยาง (คลองกลางบ้านปัจจุบัน) สมัยก่อนคลองนี้กว้างและลึกมาก มีน้ำไหลผ่านตลอดปี มีต้นไม้น้อย – ใหญ่อยู่สองฝั่งคลอง ซึ่งตอนนั้นมีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ถนนหนทางเข้าหมู่บ้านก็ยังไม่มี จะไปไหนมาไหนก็ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงกันไป พวกข้าราชการ เช่น ครู ก็มีความขาดแคลนไม่มีใครอยากมาอยู่ ทั้งนี้เพราะสภาพหมู่บ้านเป็นป่าเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก ต่อมาบ้านนาตะกรุดได้เปลี่ยนจากตำบลนาตะกรุดเป็นตำบลศรีเทพ จึงเหลือแต่เพียงบ้านนาตะกรุดเท่านั้น สำหรับการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า นาตะกรุด นั้น มีปู่ย่าตายายเคยเล่าไว้เป็นสองประการดังนี้
ประการแรก สาเหตุที่เรียกว่าบ้านนาตะกรุด เพราะหมู่บ้านนี้มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งน้ำซึ่งไม่ลึกนัก เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะเต็มแอ่ง แอ่งน้ำนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ตะกุด” ซึ่งแอ่งน้ำมีอยู่มากมายในหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำก็จะแห้ง แอ่งแต่ละแอ่งจะมีความยาวประมาณ ๑๐ วา ต่อเนื่องกันบ้างไม่ต่อเนื่องกันบ้าง ดังนั้นคำว่าตะกุดจึงมีลักษณะคล้ายคลอง แต่ความยาวความสั้นของตะกุดนั้นเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ เช่น ตะกุดข่าง ตะกุดยอ ตะกุดตะเข้ ตะกุดครก ตะกุดไอ้โซ ตะกุดจิก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ชื่อตะกุดต่างจะเรียกตามชื่อของพรรณไม้ที่มีอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมากๆ เช่น ตะกุดยอ มาจากต้นยอ ตะกรุดจิก มาจากต้นจิก เป็นต้น
ประการที่สอง สาเหตุที่เรียกชื่อบ้านนาตะกุด เพราะมีคนมาหาเครื่องรางของขลัง คือ “ตะกรุด” นางจีน ตะกรุดงามได้เล่าไว้ว่า ในสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองเก่า ต่อมาเมืองดังกล่าวเกิดการล้มสลาย ก็มีชาวบ้านจากเมืองอื่นเข้ามาหาเครื่องรางของขลังของเก่าที่มีค่า เช่น ตะกุด ชาวบ้านได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านนาตะกุด”
สมัยแรกที่มาถึงยังไม่มีนามสกุล จนถึงเมื่อรัชการที่ ๖ จึงได้มีการตรานามสกุลใช้มาจนถึงทุกวันนี้ สันนิฐานว่าการตรานามสกุลที่เกิดขึ้นได้นำมาจากชื่อของบรรพบุรุษ มีเพียงไม่กี่นามสกุลที่เป็นตระกูลดั้งเดิม และเมื่อสมัยนั้นมีตะกรุดเยอะจึงได้นำเอาตะกรุดมาตั้งเป็นนามสกุลมาจนถึงปัจจุบัน เช่น
ตะกรุดโฉม ตะกรุดแจ๋ม ตะกรุดแก้ว
ตะกรุดงาม ตะกรุดขำ ตะกรุดคุ้ม
ตะกรุดเงิน ตะกรุดทอง ตะกรุดพล
ตะกรุดอ่อน ตะกรุดเดิม ตะกรุดคง
ตะกรุดจันทร์ ตะกรุดราช ตะกรุดสงฆ์
ตะกรุดเพ็ง ตะกรุดวัด ตะกรุดเที่ยง
ตะกรุดปาน ปิ่นตะกรุด เป็นต้น”
หลังจากนั้นจึงมีชาวบ้านเริ่มเข้ามาสร้างบ้านเรือนขยายอาณาเขตเกิดเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันการปกครองส่วนภูมิภาคอำเภอศรีเทพ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ ตำบล ๙๒ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลศรีเทพ ๑๔ หมู่บ้าน ตำบลสระกรวด ๑๖ หมู่บ้าน ตำบลคลองกระจัง ๑๗ หมู่บ้าน ตำบลนาสนุ่น ๑๔ หมู่บ้าน ตำบลโคกสะอาด ๑๓ หมู่บ้าน ตำบลหนองย่างทอย ๑๑ หมู่บ้าน และตำบลประดู่งาม ๗ หมู่บ้าน
องค์ประกอบสำคัญของแหล่งมรดก
๑. องค์ประกอบสำคัญทางกายภาพ
- บ้านเก่า
- แหล่งศิลปกรรมภายในชุมชน ได้แก่ วัดอุทุมพรวราราม (วัดใน) วัดโพธิ์ทอง (วัดนอก) วัดธุตังคาราม
- ท่าบ้าน (ท่าขนส่งสินค้าในอดีต)
- ศาลเจ้าพ่ออู่ทอง
๒. องค์ประกอบสำคัญที่ไม่เป็นกายภาพ
- ประเพณีตามความเชื่อของชุมชน เช่น ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพ,ประเพณีไปส่งไปรับพ่อแม่ ประเพณีเลี้ยงผีอีตาประเพณีการเลี้ยงผีโรง หรือผีปู่ยาตายาย และประเพณีเลี้ยงผีมอญ
- ตำนาน นิทาน เรื่องเล่าของชุมชน เช่น ตำนานเจ้าพ่อเมืองศรีเทพ ตำนานเจ้าพ่อศรีเทพ ตำนานการสร้างถนนจากเมือง
ศรีเทพไปเมืองเล็ง ตำนานเขาตะเภาเขาตะเข้ ตำนานเมืองศรีเทพ ตำนานหลง ตำนานเมืองศรีเทพล่ม ตำนานประวัติเจ้าหูด ตำนานหูดแสนปมตำนานมหัศจรรย์ของสระแก้วสระขวัญ ตำนานช้างตกหล่ม ตำนานเจ้าพ่อหินหักและเมืองศรีเทพล่ม และตำนานเมืองลับแล
- การละเล่นพื้นบ้านที่ยังคงเล่นกันอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เช่น การเล่นรำโทน การร้องเพลงพื้นบ้าน การเล่นเบี้ยตีเข่า การวิ่งวัว การเล่นสะบ้า การเล่นชักกะเย่อ การเล่นลูกช่วง การเล่นโผงพาง การเล่นรีรีข้าวสาร การเล่นผีนางควาย การเล่นผีนางสุ่มการเล่นผีลิงลม การเล่นผีนางสาก การเล่นผีนางด้ง และการเล่นนางช้าง
- ภาษาพื้นถิ่นที่ยังคงแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
- อาหารพื้นถิ่น คาว-หวาน เช่น แกงอีเหี่ยว ข้าวโปรง ข้าวแดกงา เป็นต้น
- พืช สมุนไพรพื้นถิ่น
- บุคคลสำคัญของชุมชน เช่น กำนันต่าง ๆ ผู้บุกเบิกการก่อตั้งบ้านนาตะกรุด
- คาถาอาคมพื้นถิ่น
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
สภาพปัญหาของชุมชนบ้านนาตะกรุด มาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิตอาจมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาต่าง ๆ จึงหลงเหลือให้เห็นเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนแหล่งศิลปกรรมต่าง ๆ ในท้องถิ่น บางอย่างองค์ประกอบและรายละเอียด ถูกละทิ้งและผุพังตามกาลเวลา
แก้ไขเมื่อ
2024-10-29
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|