ละติจูด 16.4201363 , ลองจิจูด 101.1635065
พิกัด
ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ รหัสไปรษณีย์ 67000
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
ประวัติความเป็นมา
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนถนนเพชรเจริญ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ จากการสันนิษฐานของกรมศิลปากรที่ได้ขุดพบพระพุทธรูปภายในวัดพระแก้ว พบว่ามีพระพุทธรูปอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี
พระครูศรีพัชรบวร (เจ้าอาวาสวัดปัจจุบัน) สันนิษฐานว่า วัดพระแก้ว แห่งนี้สร้างขึ้นใน ๒ ยุค คือ
ยุคแรก เป็นช่วงปลายสมัยสุโขทัย จากหลักฐานที่ปรากฏคือ พระพุทธรูปเก่าแก่ "หลวงพ่อโต" ภายในอุโบสถที่ยังคงเหลืออยู่ มีลักษณะเป็นเนื้อปูนปั้น ศิลปะจากช่างกำแพงเพชร รูปร่างองค์พระจะเตี้ย หน้าอกกว้าง แตกต่างจากศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่รูปร่างองค์พระสูงสมส่วน พระพักตร์รูปไข่
ยุคสอง สมัยกรุงศรีอยุธยา ดูจากแปลนการสร้างวัดที่เป็นไปตามลักษณะของแปลนจักรวาล มีพระปรางค์ทรงย่อมุมไม้ ๑๒ เหลี่ยมกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่ตรงกลางวัด และมีบ่อน้ำอยู่ด้านหน้าโบสถ์ และเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัด ซึ่งลักษณะการสร้างวัดดังกล่าวตรงตามลักษณะของแปลนจักรวาล โดยสันนิษฐานว่า วัดพระแก้วแห่งนี้ ได้สร้างบูรณะขึ้นอีกครั้งในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในอดีตวัดพระแก้วตั้งอยู่ติดต่อกันกับวัดที่เรียงกันอยู่ถึง ๓ วัด ได้แก่ วัดพระสิงห์ วัดพระแก้ว
และวัดพระเสือ โดยวัดพระสิงห์ อยู่ทางทิศเหนือติดกับแม่น้ำป่าสัก วัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง และวัดพระเสืออยู่ทางทิศใต้ ตามคำเล่าขานของคนโบราณ ที่กล่าวไว้ว่า "วัดพระสิงห์อยู่เหนือ วัดพระเสืออยู่ใต้ วัดพระแก้ว อยู่กลาง จระเข้โก่งหางเอาคางทับไว้"
ในอดีตนั้น วัดพระแก้วอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่า โดยพระเจ้าเสือลือชัยซึ่งเป็นผู้นำทัพได้ต้อนคนมาสร้างวัดมหาธาตุ ซึ่งอยู่ในเขตกำแพงเมืองภายหลังจากการสร้างวัดมหาธาตุเสร็จแล้ว พระเจ้าเสือก็ได้อพยพคนมาอยู่นอกเขตเมืองบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้ จากนั้นก็เกิดคิดถึงบ้านนึกถึงความหลังจึงได้สร้างวัดขึ้น อีกแห่งหนึ่งภายในบริเวณดังกล่าว (วัดพระแก้วในปัจจุบัน) โดย ตั้งชื่อวัดว่า "วัดพระเสือ” ตามชื่อของพระเจ้าเสือลือชัยผู้นำทัพ ในขณะนั้น
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
1. พระปรางค์ย่อมุมฐานสี่เหลี่ยม
เจดีย์พระปรางค์ย่อมุมฐานสี่เหลี่ยม เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ สันนิษฐานว่า มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายในพระปรางค์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีที่ฐานและพื้นที่โดยรอบองเจดีย์ในปีงบประมาณ 2563 มีลักษณะหันไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานอยู่ในสภาพพังทลาย หลักฐานที่เหลืออยู่ประกอบด้วยฐานบัวย่อมุมไม้สิบสองด้านทิศตะวันออกยกเก็บให้เป็นแท่นบูชาหรือแท่นบันได อยู่ในสภาพพังทลาย ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียง ในผังแปดเหลี่ยม มีช่องบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปอีกเป็นชุดฐานเขียงในยังย่อมุมไม้ยี่สิบ ชั้นลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับชุดฐานสิงห์ ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลาย ส่วนกลางเป็นส่วนของเรือนธาตุอยู่ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบมีการประดับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงด้านทิศเหนือ เรือนธาตุประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ฐานบัวคว่ำ และใต้ฐานบัวหงายของชั้นเรือนธาตุอย่างละ 1 เส้น ไม่พบการประดับลวดลายปูนปั้นแต่อย่างใด ส่วนยอดปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงชั้นเชิงบาตร มีร่องรอยการประดับกลีบขนุนอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น นอกจากนี้จากการขุดแต่งพื้นที่โดยรอบองค์เจดีย์ พบหลักฐานอาคารโบราณสถานประกอบแผนผังทางด้านสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงปรางค์ (สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี,2564 โครงการบูรณะเจดีย์ทรงปรางค์ วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์และวัดไตรภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์)
2. เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ
เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัดพระแก้ว ได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีที่ฐานและขุดตรวจพื้นที่แล้ว มีสภาพทั่วไป ดังนี้ ส่วนฐานปัจจุบัน ฐานของเจดีย์ทรงระฆังอยู่ในสภาพชำรุดเหลือเพียงฐานบางส่วน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น รองรับฐานเขียงแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับฐานปัทม์ (บัว) อยู่ในผังแปดเหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปในตำแหน่งของชั้นบัวถลาหรือมาลัยเถ้า อยู่ในสภาพชำรุดจนไม่สามารถระบุรูปแบบได้ อย่างไรก็ตามในตำแหน่งของชั้นบัวถลาคงมีลักษณะสูงเพรียว เพื่อให้รองรับถึงบัวปากระฆัง อนึ่งด้านทิศใต้ของเจดีย์ในตำแหน่งที่เป็นชุดบัวถลาหรือมาลัยเถาที่ชำรุดนั้น ทำให้เห็นโครงสร้างภายใน โดยการใช้โอ่งเป็นแกนกลางและทำหน้าที่เห็นห้องกรุมีแผ่นหินทรายปิดด้านบนโอ่งอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีช่องรูไม้ทรงกลมจำนวน 4 ช่อง สามารถมองทะลุจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ และจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ในลักษณะเป็นการวางแกนของเจดีย์อีกด้วย ส่วนกลางเป็นทรงระฆังอยู่ในผังกลม ประกอบด้วยบัวปากระฆัง องค์ระฆังประดับด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับก้านฉัตร บัวปากระฆังมีลายปูนปั้นเป็นลายกลีบบัว เหลืออยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ องค์ระฆังมีลักษณะยืดสูง ปากระฆังคอดเข้า ผิวปูนฉาบอยู่ในสภาพชำรุด บัลลังก์มีลักษณะเป็นฐานบัวอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ไม่มีการประดับลายปูนปั้น ส่วนยอดปัจจุบันเหลือเพียงบัวฝาละมี และปล้องไฉน ส่วนปลียอดชำรุดพังทลายหายไปนอกจากนี้การขุดตรวจพื้นที่ยังพบหลักฐานสิ่งก่อสร้างเป็นฐานของอาคารโบราณสถาน อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกหนึ่งแห่งคือ โบราณสถานหมายเลข 1 มีลักษณะเป็นฐานก่ออิฐตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเจดีย์ทรงระฆัง (ไม่สามารถทราบขนาดได้) และไม่สามารถระบุรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพราะอยู่นอกพื้นที่ขุดแต่ง ซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ขุดแต่งเพิ่มเติมออกไป ปัจจุบันเจดีย์ทรงระฆังของวัดพระสิงห์ที่จะดำเนินการบูรณะได้ติดตั้งนั่งร้านเหล็กค้ำยันโบราณสถาน เพื่อป้องกันการพังทลายพร้อมก่ออิฐเสริมความมั่นคงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาด 0.30 เมตร ค้ำยันรองรับบัวปากระฆังทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันการทรุดตัวขององค์ระฆัง ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะชั่วคราวเพื่อรอการบูรณะต่อไป (สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี,2564 โครงการบูรณะเจดีย์ทรงปรางค์ วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์และวัดไตรภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์)
แก้ไขเมื่อ
2024-08-26
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|