ละติจูด 18.0862 , ลองจิจูด 100.2043
พิกัด
ตำบลในเวียง อำเภออำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ รหัสไปรษณีย์ 54000
ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ
วัด วัดร้าง ศาสนสถาน
ความสำคัญ/ลักษณะ
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๑ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ ๘ กิโลเมตร ในบริเวณวัด ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นหนึ่งใน พระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี คือพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ) องค์พระธาตุ ช่อแฮมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง ๓๓ เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๑๑ เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน
ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับขุนลั๊วะ อ้ายก้อม จึงได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ใน องค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮแห่งนี้ เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา
ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัย โดยระหว่างจุลศักราช ๕๘๖-๕๘๘ (พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑) ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท)ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้เสด็จมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ และในพ.ศ.๑๙๐๒ ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ และขนานนามว่า “โกสิยธชัคคปัพพเต”หรือ “โกสัยธชัคคบรรพต” จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน และต่อมาจึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ” (คำว่า “แฮ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่า ผ้าแพร)
สมัยกรุงธนบุรี (ปี พ.ศ. ๒๓๑๒) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงยกทัพตีพม่าที่ยึดครองล้านนาอยู่โดยมี พญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ ผู้ปกครองเมืองแพร่ พาขุนนาง กรมการเมืองและไพร่พล เข้าเฝ้าถวายบังคม เข้าร่วมทัพ ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดแต่งตั้งให้เป็น พระยา ศรีสุริยวงค์ ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮ โดย พญาแพร่หรือ เจ้ามังไชยะ (พระยาศรีสุริยวงศ์) ตลอดมา พญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ(พระยาศรีสุริยวงศ์) ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาดูแลองค์พระบรมธาตุช่อแฮจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเจ้าหลวงเทพวงศ์ (เจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นทอง)ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ เจ้าหลวงอินทวิไชย ก็รับการปูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเจ้าหลวงเทพวงศ์
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ เจ้าหลวงที่มีบทบาทในตำบลป่าแดงมากที่สุดและอุปถัมภ์พระบรมธาตุช่อแฮตลอดคือ เจ้าหลวงพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และจนมาถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเมืองแพร่มากที่สุด คือเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์(เจ้าพิริยวิไชย) ท่านปกครองเมืองแพร่ ปีพ.ศ. ๒๔๓๒ ปี ๒๔๔๕ เจ้าหลวงเดินทางไปหนีภัยที่หลวงพระบางซึ่งในปีนี้เมืองแพร่เกิดจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ องค์พระธาตุช่อแฮก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งโดยนักบุญแห่งล้านนาไทยที่ซึ่งเรียกตามคนเมืองแพร่ว่า ครูบาศีลธรรมหรือครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ดังค่าวตำนานปางเดิม
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระธาตุช่อแฮเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๐ ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. ๐๐๐๓/๕๒๖ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘
วัดพระธาตุช่อแฮ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๙๖ ง ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
จังหวัดแพร่ ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ ของทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง”
สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
1. ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478
2. ประกาศเป็นมรดกจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555
แก้ไขเมื่อ
2023-12-08
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | รายละเอียด | งบประมาณ | เอกสาร | สถานะ |
---|
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี | แผนงาน | ชื่อโครงการ | งบประมาณ | วันที่รายงาน | เอกสาร |
---|