เวียงเทพ (พิกัดใกล้โรงเรียนเวียงเทพวิทยา)


ละติจูด 18.423066043 , ลองจิจูด 100.161399034

พิกัด

ตำบลห้วยหม้าย อำเภออำเภอสอง จังหวัดแพร่ รหัสไปรษณีย์ 54120

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

กำแพงเมืองคูเมืองเวียงเทพสร้างอยู่บนภูมิประเทศลานตะพักแม่น้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองแพร่ ซึ่งเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม ประมาณ 28 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองโบราณมีกำแพงเมืองคูเมืองล้อมรอบที่อำเภอสอง ประมาณ 4 กิโลเมตร กำแพงเมืองคูเมืองเวียงเทพขุดลึกถึงระดับกักเก็บน้ำ ล้อมรอบบริเวณส่วนเหนือ 2 แนว ส่วนด้านใต้มีเพียงแนวเดียว เป็นลักษณะรูปแบบมุมมนยาวไปตามลำน้ำ ขนาดกว้างยาวประมาณ 630x1,140 เมตร กำแพงเมืองคูเมืองด้านตะวันออกติดกับลำน้ำยมกัดเซาะจนเหลือเฉพาะส่วนแนวมุมบนและแนวมุมล่าง คูเมืองขุดรับน้ำจากคลอง ระบายน้ำมาจากห้วยไข ซึ่งไหลมาจากภูเขาด้านตะวันตกลงสู่แม่น้ำยม และบางส่วนได้ระบายลงสู่แปลงนารอบๆ เมือง สามารถใช้ประโยชน์ได้จนถึงปัจจุบัน ร่องรอยกำแพงเมืองคูเมืองปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในรูปถ่ายทางอากาศ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่ถูกทำลายมากนัก นอกเสียจากแนวด้านตะวันออกที่ถูกแม่น้ำกัดเซาะไปก่อนการบันทึกภาพ ด้านตะวันตกของกำแพงเมืองมีถนนสายบ้านป่าคา บ้านลูนิเกต ตัดเลียบแนวกำแพงเมืองคูเมือง ภายในเมืองใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนา และทำไร่ ความสำคัญในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เวียงเทพเข้าใจว่าเป็นชื่อที่ท้องถิ่นใช้เรียกเมืองโบราณแห่งนี้ และได้ตั้งชื่อโรงเรียน ซึ่งสร้างอยู่ในเขตบ้านดอนแก้วว่า โรงเรียนเวียงเทพ สำหรับชื่อเวียงเทพนี้ การศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา หรือในเอกสารประวัติศาสตร์อื่นๆ ยังหาไม่พบ การสำรวจจากรูปถ่ายทางอากาศและจัดทำเป็นทะเบียนแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณในประเทศไทย (2521-2525) ระบุไว้แต่เฉพาะแหล่งที่ตั้ง ยังไม่มีการศึกษารายละเอียด ศรีศักร วัลลิโภดม (2532) ได้เขียนรายงานการสำรวจเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย บริเวณแม่น้ำยม ได้กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานบริเวณในแถบนี้ว่า มีมานานตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์โดยได้มีการพบเครื่องมือหินและสำริด นอกจากนี้ยังได้พบเศษภาชนะดินเผา ทั้งแบบเคลือบตามลักษณะที่ทำจากเตาในเขตล้านนา นอกจากนั้นยังได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ ในบริเวณเขตกำแพงเมืองคูเมืองหลายแห่ง ที่แสดงว่าเป็นชุมชนในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะที่เมืองงาว อยู่ทางตอนเหนือในลุ่มน้ำงาวก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำยม ได้พบพระสถูปเจดีย์ และพระพุทธรูปหินแบบสกุลช่างพะเยา สำหรับบริเวณเวียงเทพและเมืองสองในเขตอำเภอสอง ได้พบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบธรรมดา แบบแกร่ง และแบบเคลือบ ที่ผลิตในเขตจังหวัดเชียงรายและพะเยา จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองในสมัยล้านนา อย่างไรก็ตามจากการศึกษาลักษณะรูปแบบของกำแพงเมืองคูเมืองเวียงเทพ พบว่ามีลักษณะแตกต่างไปจากเวียงงาว และเวียงสอง กำแพงเมืองคูเมืองเวียงเทพเป็นลักษณะขุดคูลึกกักเก็บน้ำเช่นเดียวกับเมืองแพร่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์เรื่องราวว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย หากสันนิษฐานโดยอาศัยพื้นฐานลักษณะรูปแบบเมือง ก็น่าจะกล่าวได้ว่าเวียงเทพนั้นเป็นชุมชนโบราณมาก่อนสุโขทัยได้เช่นเดียวกับเมืองแพร่ ซึ่งมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับกำแพงเมืองคูเมืองเวียงงาว และเวียงสองนั้น รูปแบบกำแพงเมืองคูเมืองเป็นแบบเมืองป้อมภูเขา คูเมืองกำแพงเมืองไม่ใช้กักเก็บน้ำ แต่ขุดลึกใช้ประโยชน์ในการป้องกัน และตั้งอยู่บนเนินสูงกว่าพื้นที่ราบใช้ทำนา บริเวณที่อยู่อาศัยมักตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขานอกเมืองติดบริเวณที่ราบทำนา ในการเดินสำรวจครั้งนี้ได้พบเศษภาชนะดินเผา อุณหภูมิต่ำ และภาชนะเคลือบปะปนกันไปในบริเวณเขตเวียงเทพ

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2019-05-28

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร