ภาพเขียนสีค่ายประตูผา


ละติจูด 18.5132870144 , ลองจิจูด 99.8203020084

พิกัด

ตำบลบ้านดง อำเภออำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

แหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้น โบราณวัตถุ

ความสำคัญ/ลักษณะ

ภาพเขียนสีค่ายประตูผา พบบริเวณเส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ลำปาง-งาว) กม. ที่ 48 ศาลเจ้าพ่อประตูผาเลียบหน้าผาทางด้านตะวันออกของศาลเจ้าพ่อประตูผาไปประมาณ 200 เมตร จะพบหน้าผาและภาพเขียนสีเป็นระยะ ๆ ในลักษณะของถ้ำเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่สูงชัน ตามแนวเหนือ-ใต้ เป็นหน้าผาสูงจากพื้นประมาณ 40-50 เมตร มีความสูงชันประมาณ 80-90 องศา ผิวหน้าผาค่อนข้างเรียบหน้าผาเอียงชะโงกไปทางทิศตะวันออก ทำให้พื้นที่ใต้เพิงผาซึ่งเป็นที่มีภาพเขียนสีและหลุมฝังศพไม่ได้รับความชื้นจากน้ำฝนแต่อย่างใด ภาพเขียนสีปรากฎตามผนังเพิงผาเป็นระยะ ๆ ตลอดแนวประมาณ 280 เมตร แบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม รวมความยาวของกลุ่มภาพประมาณ 150 เมตร ภาพอยู่สูงตั้งแต่ระดับพื้นดินถึงประมาณ 12 เมตร นับภาพได้ประมาณ 1883 ภาพ สามารถจำแนกประเภทของภาพได้ 1,239 ภาพ อีกมากกว่า 633 ภาพ ไม่ชัดเจน ภาพทั้งหมดมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ภาพคนกับวัว ภาพมือกับภาพสัญลักษณ์ ภาพมือหลายมือร่วมกับภาพคน ภาพสัตว์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเล่าเรื่องกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การดำรงชีวิต พิธีกรรมความเชื่อ ความตาย โดยแสดงสื่อความหมายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงภายใต้เพิงผาหินนี้ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการ ขุดค้นเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างภาพเขียนสีกับโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบ อีกประการหนึ่งลักษณะของภาพเขียนสีที่ค่ายประตูผานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีในเขตภาคอีสานมาก มีการทำการขุดค้นใต้บริเวณที่พบภาพเขียนสีได้พบโครงกระดูก 4 โครง ซึ่งมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมในการฝังศพ ศพห่อด้วยใบไม้ เปลือกไม้ เสื่อ และโลงไม้ขุด ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและลายจุด ลูกปัดหิน กำไลหิน เส้นไยพืช ผ้า เครื่องจักสาน เครื่องมือหิน เครื่องมือหินขัด ขวานหินมีบ่า เครื่องมือกระดูก กระดูกสัตว์ เช่น นก วัวเขากวาง กระดองเต่า เป็นต้น เปลือกหอย ข้าว เมล็ดพืช ไยไผ่ ทัพพีไม้เขียนลายสีแดง ดินเทศ และหินสีแดงซึ่งน่าจะนำมาใช้ในการเขียนสี (ที่มา : http://www.era.su.ac.th/)ภาพเขียนสีพบกระจายอยู่หลายกลุ่มเป็นระยะ ๆ พบตั้งแต่ในระดับสูงประมาณเอวจนถึงสูงกว่า 10 เมตร พบว่าภาพทั้งหมด (ที่คัดลอก) มีมากกว่า 1,872 ภาพ โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ตามลักษณะการเว้าของหน้าผา แต่ละกลุ่มมีชื่อและรายละเอียดภาพโดยสังเขป ดังนี้ กลุ่มที่1 ผาเลียงผาประกอบไปด้วยภาพเลียงผา วัว เต่า นก ม้า ปะปนกับภาพมือทั้งแบบเงาทึบและกึ่งเงาทึบที่มีการตกแต่งลวดลายภายในมือเป็นลายเส้นแบบต่าง ๆ บางภาพประทับอยู่บนภาพสัตว์ บางภาพประทับซ้อนกันหลายครั้ง และบางภาพประทับอยู่บนภาพสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังพบภาพวาดที่แสดงถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มที่2 ผานกยูงประกอบไปด้วยภาพคนเพศชาย ภาพสัตว์คล้ายนกยูง ภาพสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะกวด (?) พังพอน (?) กระรอก บ่าง ภาพสัญลักษณ์คล้ายดอกไม้ ภาพวัว ภาพสัญลักษณ์ทั้งรูปสี่เหลี่ยมที่มีการตกแต่งภายในและภาพภาชนะที่มีลักษณะคล้ายภาชนะที่ทำด้วยโลหะ นอกจากนี้ยังมีภาพมือที่ทำด้วยเทคนิคการประทับแบบกึ่งเงาทึบ การพ่น และวาดแบบอิสระ กลุ่มที่3 ผาวัวประกอบไปด้วยภาพเงาทึบและภาพโครงร่างของสัตว์คล้ายวัว กระจง เก้งหรือกวาง บางภาพเป็นโครงร่างขนาดใหญ่ของสัตว์มีเขาคล้ายวัว มีภาพมือประทับและตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ และยังพบว่าภาพมือประทับบางภาพมีการตกแต่งด้วยลายขีดในแนวขวางด้วยลายเส้นขนาดเล็กทั่วฝ่ามือ ด้านหน้าวัวปรากฏภาพคน 7 คน ยืนรายล้อมอยู่ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมฝังศพวาดภาพเขียนสี กลุ่มที่4 ผาเต้นระบำประกอบไปด้วยภาพคน 5 คน และสัตว์ มีคนในภาพนุ่งผ้าทรงกระบอกโป่งพอง ถืออาวุธคล้ายธนู ด้านหลังของคนดังกล่าวมีภาพคนอีก 2 คน กำลังเคลื่อนไหวก้าวเท้าไปข้างหน้า และมีภาพเงาทึบของวัวหันหน้าเข้าหากันในลักษณะต่อสู้ และมีภาพบุคคลแสดงกิริยาเคลื่อนไหวในท่าวิ่งเข้ามาอยู่ระหว่างวัวทั้งสองตัว คล้ายกับการห้ามวัว กลุ่มที่5 ผาหินตั้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่1ต่อเนื่องกับกลุ่มภาพที่ 4 ปรากฏเป็นภาพกลุ่มคน (9 คน) วาดแบบตัดทอนส่วน ภาพสัตว์คล้ายเก้ง ภาพสัญลักษณ์ และส่วนที่2เป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของบุคคลนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ ร่างของบุคคลถูกวาดตามแนวขวางตลอดทั้งตัว และมีเครื่องหมายกากบาททับไว้ในบริเวณบริเวณส่วนทรวงอก ด้านหลังภาพมีแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ในแนวตั้งอยู่ 2 ภาพ ด้านบนแม่งสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีภาพสี่เหลี่ยมในแนวนอนลักษณะโค้งวางอยู่เหนือภาพคน จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาพแท่งสี่เหลี่ยมคือเสาหินที่น่าจะอยู่ในรูปแบบของหินตั้งประเภทโต๊ะหิน ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ช่วงสมัยหินกลางจนถึงต้นสมัยโลหะ และภาพบุคคลที่มีลักษณะคล้ายถูกพันห่อไว้พร้อมกับมีเครื่องหมายกากบาททับร่าง ซึ่งอาจหมายถึงร่างของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว กลุ่มที่6 ผานางกางแขนปรากฏภาพบุคคลคล้ายสตรีที่มีส่วนท้องค่อนข้างใหญ่ แขนทั้งสองข้างกางออกไปด้านขางของลำตัว ปลายแขนงอลง ในระดับบนของกลุ่มภาพยังพบภาพคล้ายบุคคลที่มีศีรษะกลม ช่วงล่างของศีรษะในระดับหูมีติ่งยื่นออกมาทั้ง 2 ข้าง คล้ายหมวกปีกหนา แขนขนาดเล็กทั้ง 2 ข้างกางออกตั้งฉากกับลำตัวที่มีส่วนท้องขนาดใหญ่ บริเวณช่วงล่างของภาพปรากฏภาพสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก 2 ตัว คาดว่าน่าจะเป็นตะกวดหรือจิ้งจก ใช้เทคนิคการวาดภาพโครงร่างและใช้ลายเส้นเล็ก ๆขีดทับในบบริเวณส่วนลำตัว ซึ่งอาจเป็นการสื่อความหมายให้เห็นรายละเอียดของขนสัตว์ และกลุ่มที่7 ผาล่าสัตว์เป็นภาพกลุ่มสุดท้ายที่พบ จากลักษณะเพิงผาที่ตัดตรง ทำให้ภาพเขียนสีลบเลือน ภาพที่ปรากฏเป็นภาพบุคคล 2 คน นุ่งผ้าปล่อยชายยาว บุคคลทางด้านขวาของภาพถืออุปกรณ์วงกลมลักษณะคล้ายห่วง แสดงการเคลื่อนไหวคล้ายจะคล้องจับเอาวัว ส่วนบุคคลอีกคนหนึ่งถือวัตถุคล้ายไม้ในลักษณะเงื้อง่า คล้ายอาการตีวัว ซึ่งอาจแสดงถึงกิจกรรมการจับหรือฝึกฝนสัตว์ เนื้อหาของภาพเขียนสีทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่น่าจะมีทั้งการล่าสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ทราบถึงลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยนั้น ตลอดจนประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตายหรือการปลงศพ การเขียนเขียนด้วยสีแดงที่มีความเข้มจางของสีต่างกันในแต่ละภาพ สีแดงน่าจะมาจากดินเทศ เพราะพบหลักฐานจากการขุดค้นบริเวณเพิงผาใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 ที่พบก้อนดินเทศมีร่องรอยการขัดฝนจนเรียบ และโครงกระดูกหมายเลข 3 บริเวณช่วงปลายแขน มือ และต้นขา ที่พบกลุ่มดินเทศวางตัวเรียงเป็นแนวยาวและติดแน่นกับโครงกระดูก แหล่งวัตถุดิบของดินเทศน่าจะมาจากภายในพื้นที่ เพราะในแอ่งประตูผา โดยเฉพาะบริเวณเนินเขาต่าง ๆ พบก้อนดินเทศหรือหินสีแดงขนาดต่าง ๆกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งตามลำน้ำบริเวณดอยผาแดง (ห่างออกไปจากแล่งโบราณคดีประมาณ 5 กิโลเมตร) ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของน้ำแม่หวดสาขาหนึ่ง พบชั้นดินเทศเป็นชั้นหนาเรียงตัวสลับกับหินชนิดอื่น ๆ ลำน้ำบริเวณเชิงดอยนี้ยังปรากฏดินเทศเต็มพื้นท้องน้ำเป็นระยะทางยาวมาก อุปกรณ์ผสมสีและใส่สี น่าจะเป็นเปลือกไม้หรือผลไม้ เช่น กะลามะพร้าว น้ำเต้า กระบอกไม้ไผ่ หรืออาจเป็นภาชนะดินเผา ซึ่งจากการสำรวจผิวดินบริเวณกลุ่มภาพที่ 2 พบเปลือกน้ำเต้าที่มีร่องรอยสีแดงติดอยู่ภายใน อีกทั้งการขุดค้นใต้ภาพกลุ่มที่ 1 พบชิ้นส่วนน้ำเต้าเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเปลือกน้ำเต้า อุปกรณ์ระบายสี ภาพบางภาพมีลายเส้นขนาดเล็กมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะใช้พู่กันวาด ซึ่งพู่กันอาจทำจากกิ่งไม้หรือแท่งไม้ทุบปลายจนนิ่ม สามารถซึมซับน้ำสีได้ หรืออาจเป็นดอกหญ้าหรือขนสัตว์หรืออื่น ๆ มัดรวมเป็นจุก ส่วนการระบายหรือลงสีทึบของภาพแบบเงาทึบ อาจใช้ทั้งพู่กันและ/หรือนิ้วมือ (ที่มา : sac.or.th/)

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

-

แก้ไขเมื่อ

2020-12-03

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
- ไม่มีรูปภาพ -
แผนงานและโครงการ
- ไม่มีเอกสาร -