เมืองเก่าลำพูน


ละติจูด 18.577263 , ลองจิจูด 99.007076

พิกัด

ตำบลในเมือง อำเภออำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน รหัสไปรษณีย์ 51000

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

เมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์

ความสำคัญ/ลักษณะ

เมืองลำพูนตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน พบร่องรอยของแหล่งโบราณคดีและการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์คือแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ เรื่อยมาจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ช่วงสมัยหริภุญไชยจนถึงปัจจุบัน มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนทับซ้อนสืบเนื่องต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย จากร่องรอยหลักฐานที่หลงเหลือแสดงถึงความเป็นเมืองเก่ามีเพียงบริเวณพื้นที่เวียงหริภุญไชยดั้งเดิมและบริเวณโดยรอบเท่านั้น เมืองเก่าลำพูนเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยมีผังเมืองเป็นรูปรีหรือที่เรียกว่ารูปหอยสังข์ ขนาดกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 825 เมตร ด้านกว้างทางทิศเหนือมีความกว้างกว่าทิศใต้เล็กน้อย การตั้งเมืองอาศัยลักษณะภูมิประเทศ จึงกำหนดให้ตัวเมืองด้านตะวันออกติดแม่น้ำ เป็นลักษณะของเมืองในยุคแรกที่ไม่ต้องใช้เทคนิควิทยาการในการสร้างเมืองมากนัก มีคูเมืองอยู่รอบเมือง 3 ด้าน ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำกวงเป็นคูเมือง ปัจจุบันยังปรากฏอยู่อย่างชัดเจน กำแพงเมืองเดิมเป็นเพียงคันดินที่เกิดจากการขุดคูเมืองแล้วนำดินมาถมเป็นแนว ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว (ยุคล้านนา) ได้ปรับเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ส่วนฐาน มีความสูงประมาณ 3 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่ออิฐทำเป็นรูปใบเสมา ส่วนประตูเมืองโดยรอบนั้นพบร่องรอยอยู่ 6 แห่ง ปัจจุบันกำแพงเมืองและประตูเมืองถูกรื้อถอนไปเกือบทั้งหมดเหลือเพียงร่องรอยของ ประตูมหาวันที่เห็นเฉพาะส่วนฐานของประตูด้านเหนือส่วนด้านใต้คงเหลือเพียงกองอิฐบางส่วนตามผังเมืองลำพูนมีการวางแผนการใช้น้ำ โดยมีแหล่งน้ำหลัก คือ แม่น้ำกวงอยู่ด้าน ตะวันออก ส่วนบริเวณภายในเมืองอาศัยหนองน้ำ ร่องรอยในเมืองมีแหล่งน้ำ 2 แห่ง คือ หนองจามเทวีและ หนองดอก โดยหนองจามเทวีอยู่หลังศาลากลางจังหวัดลำพูนตรงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง เป็น หนองน้ำขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าสำหรับใช้สอยในคุ้ม ปัจจุบันหนองน้ำแห่งนี้ยังอยู่แต่พื้นที่บางส่วนถูกบุกรุกเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่วนหนองดอกอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่กว่าหนองจามเทวี หนองดอกแต่เดิมเป็นจุดรับน้ำจากที่ต่าง ๆ ภายในเวียง ปัจจุบันถูกถมเพื่อใช้พื้นที่เป็นตลาดหนองดอกและลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ศิลปะและสถาปัตยกรรมในเขตเมืองเก่าลำพูนมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะสกุล ช่างหริภุญไชย เช่น องค์พระบรมธาตุหริภุญชัย เจดีย์กู่กุดหรือเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ เจดีย์แปดเหลี่ยมหรือรัตนเจดีย์ สุวรรณเจดีย์หรือปทุมวดีเจดีย์ เจดีย์เชียงยัน เจดีย์ร้าง วัดชัยมงคล (เจดีย์ชัยชนะ) กู่ช้าง และเจดีย์ต้นก๊อ (วัดต้นแก้ว) ศาสนสถานที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่เมืองเก่าลำพูนและพื้นที่โดยรอบมีทั้งที่ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นวัดและอาคารที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา วัดที่อยู่ในเขตคูเมือง ได้แก่ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดชัยมงคล วัดช้างสี วัดช้างรอง วัดธงสัจจะ วัดศรีบุญเรือง และวัดสุพรรณรังษี วัดที่อยู่นอกคูเมือง กำแพงเมือง ส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่ยุคหริภุญไชยและยุคฟื้นฟูบ้านเมือง ได้แก่ วัดดอนแก้ว หรือวัดอรัญญิการาม วัดพระคงฤๅษี หรือวัดอาพัทธาราม วัดมหาวัน หรือวัดมหาวนาราม วัดประตูลี้ หรือวัดมหารัตตาราม วัดสันป่ายางหลวง วัดจามเทวี วัดพระยืน วัดสันดอนรอม และวัดบ้านหลวย เป็นต้น

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

1. ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าลำพูน เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554

แก้ไขเมื่อ

2018-11-14

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร