สิมวัดแจ้งสว่างใน


ละติจูด 16.593568932185 , ลองจิจูด 102.00348145833

พิกัด

วัดแจ้งสว่างใน บ้านโนนหัน ตำบลโนนหัน อำเภออำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40290

ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ

วัด วัดร้าง ศาสนสถาน

ความสำคัญ/ลักษณะ

วัดแจ้งสว่างใน เดิมชื่อวัดแจ้งสว่าง เป็นวัดคามวาส สังกัดมหานิกาย ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ.2425 มีเนื้อที่ 10 ไร่ 5 ตารางวา สิมวัดแจ้งสว่างใน เป็นอุโบสถหลังเดิมของวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช 2436 และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาในปีพุทธศักราช 2438 โดยการนำของพระอาจารย์วรรณดี พ่อคำมี ขุนอินทร์ และชาวบ้านโนนหัน และมีการบูรณะในปีพุทธศะกราช 2466 เดิมมีหลวงปู่พระครูเหล็ก เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฏ (หน้าผาก) กว้างและแบนราบ มีดั้งพระนาสิกไม่โด่งนักแต่สมส่วน พระนาสิกมีลักษณะคล้าย รูปสามเหลี่ยม เม็ดพระศกคล้ายหนามขนุนมีพระเกตุมาลาเตี้ยๆ รองรับยอดพระรัศมี พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แสดงอาการยิ้มน้อยๆ พระกรรณมีติ่งห้อยยาวและโค้งออกเล็กน้อย ครองจีวรห่มเฉียงพระประทับนั่ง บนฐานบัวย่อมุมปลายงอนมีหน้ากระดานท้องไม้คั่นกลาง รองรับด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ 1 ชั้น ประดิษฐานอยู่ภายใน ต่อมาถูกย้ายไปประดิษฐานที่เจดีย์ภายในวัด สิมมีรูปแบบเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วลดชั้น ก่อฐานสูง ปัจจุบันฐานสูง 1.30 เมตร กว้าง 4.30 เมตร ยาว 9.20 เมตร หนังทึบทั้ง 4 ด้าน หนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด 29 x 41 เซนติเมตร ด้านละ 1 ช่อง สิมหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นด้านเดียวที่ราวบันไดไม่มีการตกแต่งลวดลาย ที่ผนังด้านหลังตลอดความกว้างของผนังก่อเป็นฐานชุกชี มีร่องรอยการปักใบเสมาล้อมรอบ ด้านข้างด้านละ 3 จุด ด้านหลัง 1 จุด ส่วนด้านหน้าถูกเทพื้นซีเมนต์ทับพื้นเดิมแล้ว ปัจจุบันยังคงเหลือใบเสมาหินของเดิมที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะเป็นแผ่นหินธรรมชาติขนาดเล็กตามแบบที่พบเสมอใน สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง และด้านหลังซึ่งเป็นใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดีที่มีการจารึกข้อความเอาไว้ โครงสร้างหลังคาของเดิมเป็นเครื่องไม้ยังคงปรากฏขื่อไม้ซึ่งมีการแกะสลักลวดลายดอกไม้เลื้อยทาสีเหลือง เขียว น้ำเงินอย่างอ่อนช้อยงดงาม บริเวณหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นลายตาเวน (ตะวัน) ส่วนหลังคาได้มีการเปลี่ยนสังกะสีใหม่พร้อมกับจำลองช่อฟ้า (โหง่ว) ปั้นลม โดยจำลองจากของเดิมแล้วติดตั้งใหม่เมื่อ พ.ศ.2548 ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ได้ความว่าเดิมสิมหลังนี้มีบานประตูไม้แกะสลัก ส่วนภายในอาคารด้านหลังพระประธานเคยมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) เป็นรูปราหูอมจันทร์ระบายสีเหลืองเพียงภาพเดียว ส่วนผนังด้านอื่นๆ ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ มีชายคายื่นออกมาประมาณ 1 ศอกรองรับด้วยคันทวยรูปพญานาค (ไม่มีเสารองรับหลังคา) ซึ่งปัจจุบันทางวัดแจ้งสว่างในได้เก็บรักษาไว้ 1 ชิ้น ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ปักใบเสมาหินด้านละ 3 ใบ ปัจจุบันเหลือของเดิมเพียง 1 ใบ ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนด้านหลังก็มีใบเสมาขนาดใหญ่สลักข้อความเอาไว้ก็มีมาแต่เดิมเช่นกัน ใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดี สันนิษฐานว่าน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่ใกล้เคียง อยู่ด้านหลังสิม ปัจจุบันถูกโบกปูนยึดเอาไว้ รูปทรงกลีบบัวแบบเรียบทั้งแผ่น ที่ฐานสลักเป็นรูปกลีบบัวเรียงกัน มีความสูงรวมเดือยที่โผล่พ้นพื้นขึ้นมาประมาณ 1.70 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 57 เมตร หนาประมาณ 25 เซนติเมตร ด้านหนึ่งมีการสลักข้อความด้วยอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน 20 บรรทัด บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างสิม 

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สิมวัดแจ้งสว่างใน ปัจจุบันเลิกใช้งานไปแล้ว และมีการสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนล้อมรอบสิมเอาไว้ มุงสังกะสีหลังคาเชื่อมต่อกับด้านหน้าแทนหลังคาเดิมที่ชำรุดไป ทำให้มีลักษณะอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มียอดสิมสูงเด่นอยู่กลาง โดยเจ้าอาวาสวัดแจ้งว่าชาวบ้านอยากจะสร้างหลังคาโดมครอบสิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้เกิดการพังทลายในอนาคต

แก้ไขเมื่อ

2025-07-14

ข้อมูลสถิติ
หน่วยอนุรักษ์ฯ
ภาพประจำแหล่งศิลปกรรม
แผนงานและโครงการ
การเสนอแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ รายละเอียด งบประมาณ เอกสาร สถานะ
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ
ปี แผนงาน ชื่อโครงการ งบประมาณ วันที่รายงาน เอกสาร